วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2024 | 4 : 28 am
วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2024 | 4:28 am

วช. หนุน นักวิจัย จุฬาฯ คิดค้น “นวัตกรรมการทำวัคซีนปลาแบบไร้เข็ม” ป้องกันโรคระบาดสำคัญให้ปลาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ คว้ารางวัลเวทีนานาชาติ

นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่นักวิจัย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้น“นวัตกรรมการทำวัคซีนปลาแบบไร้เข็ม” ป้องกันโรคระบาดสำคัญให้ปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการผลิตปลาเศรษฐกิจ ลดการใช้ยาและสารคมีต่าง ๆ ในกระบวนการเลี้ยง และช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาเศรษฐกิจได้

รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาโรคคอลัมมนาริส หรือโรคเหงือกเน่า ซึ่งเกิดจาก เชื้อฟลาโวแบคทีเรียม คอลัมแนร์ เป็นโรคระบาดในปลาน้ำจืดที่เป็นปัญหาที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลานิล ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย

ที่ประชาชนนิยมบริโภคกันเป็นจำนวนมาก โรคนี้สามารถเกิดกับปลาได้ตั้งแต่ปลาเพิ่งฟักออกจากไข่ได้ไม่นาน หรือปลาที่มีขนาดเล็กมาก หรือแม้กระทั่งปลาที่มีขนาดใหญ่แล้ว ก่อให้เกิดอัตราการตายได้สูงมากกว่า 70 % อาการของโรคคอลัมนาริสที่เกษตรกรจะสังเกตุเห็นจากตัวปลาได้ง่ายๆ ด้วยตนเองคือการอักเสบของเหงือกแบบรุนแรงและมีเนื้อตายสีคล้ายสนิมที่เนื้อเยื่อเหงือก และอาจพบที่บริเวณครีบหรือลำตัวได้ด้วย เมื่อเกิดปัญหาจากโรคนี้ขึ้นแล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงปลามักมีการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีในการควบคุมและรักษาโรค แต่ก็ให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนักและยังคงมีความเสียหายอยู่ค่อนข้างมาก จากปัญหาดังกล่าวทางคณะผู้วิจัย

จึงได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้ปลา โดยวัคซีนจะพัฒนามาจากเชื้อแบคทีเรียที่แยกได้จากท้องถิ่นในประเทศไทยเอง นำเชื้อมาทำให้ตายและกลายเป็นอนุภาคนาโน แต่ทว่ายังสามารถเกาะติดเยื่อเมือกของปลาเพื่อกระตุ้นให้ปลาสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะขึ้นเพื่อต้านทานการก่อโรคของเชื้อแบคทีเรียนี้ได้เป็นอย่างดีเนื่องจากมีการเคลือบอีกชั้นด้วยอนุภาคนาโนที่สกัดจากสารธรรมชาติ เช่น ไขมัน และเพอลิเมอร์จากธรรมชาติ ซึ่งอนุภาคนาโนเหล่านี้จะเป็นตัวห่อหุ้มแบททีเรียที่ตายแล้ว อนุภาคของวัคซีนมีคุณสมบัติเข้าเกาะติดเยื่อเมือกเลียนแบบการก่อโรคของเชื้อแบคทีเรีย ฟลาโวแบคทีเรียม คอลัมแนร์ นั้น เมื่อนำปลาไปแช่วัคซีน วัคซีนก็จะเกาะติดที่เยื่อเมือกของปลา และดูดซึมผ่านเยื่อเมือกได้

การทำวัคซีนชนิดนี้มีข้อดีคือเป็นวัคซีนแบบไร้เข็ม (needle-free vaccination) ที่ใช้ได้กับปลาทุกขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กมาก ๆ ใช้เพียงการจุ่มแช่ตัวปลาในระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 30 นาที แล้วปล่อยปลาลงไปในน้ำที่ใช้เลี้ยงปรกติ หลังจากนั้นปลาจะค่อย ๆ สร้างภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียฟลาโวแบคทีเรียม คอลัมแนร์ขึ้นได้นานประมาณ 2-3 เดือน และมีอัตราการรอดชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 60 เมื่อมีการติดเชื้อดังกล่าว ดังนั้นวัคซีนนี้จึงเป็นวัคซีนที่ลดข้อเสีย ข้อจำกัด หรือความไม่สะดวกต่าง ๆ ที่เกิดจากการที่ต้องทำวัคซีนแบบฉีดแบบเดิม ๆ ให้แก่ปลาลงได้ อาทิเช่น วัคซีนแบบฉีดทำได้เมื่อปลามีขนาดใหญ่พอสมควรเท่านั้น ก่อนฉีดวัคซีนต้องมีการวางยาสลบให้ปลาก่อน ต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการฉีดวัคซีน ขั้นตอนในการฉีดและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีความยุ่งยาก และปลาอาจเกิดการติดเชื้อหรือบาดเจ็บจากบริเวณที่ฉีดวัคซีนได้

รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ กล่าวต่ออีกว่า วัคซีนแช่นาโนแบบเกาะติดเยื่อเมือกต้านโรคเหงือกเน่าในปลา เป็นวัคซีนที่ใช้งานง่ายมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคเหงือกเน่า ซึ่งมีการทดสอบแล้วทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนามกับฟาร์มเลี้ยงปลา โดยวัคซีนผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่กำหนด และนำปลาลงไปแช่ ประมาณ 15 – 30 นาที ซึ่งถ้าหากต้องการทำวัคซีนให้แก่ปลาขนาดประมาณ 1-5 กรัม การใช้วัคซีน 1 ลิตร จะสามารถทำวัคซีนให้แก่ปลาได้มากถึง 100,000 – 200,000 ตัวเลยทีเดียว ต้นทุนของการทำวัคซีนนี้ถือว่าถูกมากคือไม่ถึง 50 สตางค์ ต่อลูกปลา 1 ตัว ซึ่งถือว่าเป็นความสะดวก ประหยัด ลดต้นทุนในการผลิตปลาให้แก่เกษตรกร และปลอดภัยค่อนข้างมากกับการทำวัคซีนปลาในระดับอุตสาหกรรม

จากการนำวัคซีนต้นแบบไปใช้ในการเลี้ยงปลานิลระดับอุตสาหกรรมสามารถลดความเสียหายและเพิ่มอัตรารอดของปลานิลจากภาวะเหงือกเน่าได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ องค์ความรู้จากนวัตกรรมนาโนวัคซีนแบบเกาะติดเยื่อเมือกนี้กำลังต่อยอดและขยายผลต่อไปยังการทำวัคซีนในรูปแบบให้กินเป็นอาหาร และนาโนวัคซีนแบบเกาะติดเยื่อเมือกเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ ที่สำคัญสำหรับปลานิลและปลาเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ เช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียแอโรโมนาส เวโรนิไอ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียฟรานซิสเซลล่า และวัคซีนป้องกันโรคเกล็ดร่วงจากไวรัส SDDV ในปลากะพงขาว เป็นต้น

ผลงานวิจัย “นวัตกรรมการทำวัคซีนปลาแบบไร้เข็ม” ได้รับรางวัลการประกวดในเวทีนานาชาติหลายเวที อาทิ รางวัล GRAND PRIZE จากเวที Soel International Invention Fair 2021 (SIIF 2021) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี รางวัล GOLD MEDAL จากเวที The 32nd International Invention, Innovation & Technology Exposition (ITEX 2021) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รางวัล SILVER MEDAL จากงาน 2021 Kaohsiung International Invention & Design Expo (KIDE) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน รางวัล GOLD MEDAL จากเวที The 9th Macao International Innovation and Invention Expo (MiiEX) ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทุกเวทีได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม