วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2024 | 12 : 02 am
วันอาทิตย์, 22 ธันวาคม 2024 | 12:02 am

วช. โดย ศูนย์ HTAPC  ร่วมกับ มธ. ศูนย์ลำปาง หาทางออกแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ระดับอาเซียน

วันที่ 4 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง (มธ.) จัดการเสวนาวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง “PM2.5 โอกาสและความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานวิชาการ รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน และมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปางและกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานร่วมกล่าวเปิดและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานฯ ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย” และ Dr. Zbigniew Klimont (Research Group Leader and Principal Research Scholar of Pollution Management Research Group, Energy, Climate, Environment, International Institute for Applied Systems Analysis (IIASA), Austria) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สถานการณ์ปัญหา PM2.5 ข้ามพรมแดน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ณ อาคารบุญชูปณิธาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งด้านปัญหา PM2.5 และมลพิษอากาศ วช.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ทันสมัย เครื่องมือตรวจวัด การบำบัด และการวิเคราะห์องค์ประกอบเพื่อระบุแหล่งกำเนิด รวมถึงการประเมินประสิทธิผลของนโยบายและมาตรการบรรเทาผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้ สามารถนำไปใช้เป็นแหล่งสนับสนุนทางวิชาการที่สำคัญให้แก่ กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการวางแผนและพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการบรรเทาปัญหามลพิษ PM2.5 และนำไปสู่การก่อตั้ง “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ” (Hub of Talents on Air Pollution and Climate: HTAPC) ที่มี ดร.สุพัฒน์ หวังวงค์วัฒนา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ภายใต้แผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และ ศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) เพื่อเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับประเทศและระดับนานาชาติจากหลากหลายสถาบัน เพื่อช่วยกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปางและกฎหมาย กล่าวว่า มธ. ศูนย์ลำปาง ได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่ 3 : Future Life and Society คือการสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมแห่งอนาคต เพื่อส่งเสริมพื้นที่แสดงออกทางวิชาการโดยการผสานองค์ความรู้แบบพหุศาสตร์ให้กับประชาคมธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประชาคมอันจะก่อให้เกิดการตกผลึกขององค์ความรู้ทางวิชาการ สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย ว่ามีแหล่งกำเนิดการเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่ง โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหา PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะทำให้เกิดการกักฝุ่นไว้ มีการเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง และมีการเผาในที่โล่งเป็นประจำ อีกทั้งยังมี PM2.5 ข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซ้ำเติมให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง นอกจากนี้ PM2.5 ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วย

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวถึงการดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ว่า มีบทบาทหน้าที่ในการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์และวิทยาการสาขาต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศและภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ

การเสวนาวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง “PM2.5 โอกาสและความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในช่วงบ่าย มีการพูดคุยเกี่ยวกับการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืนแบบบูรณาการ โดย Dr. Evan Bing (Ambient Air Monitoring Manager, Northwest Clean Air Agency, USA) Dr. Eric Zusman (Senior Policy Researcher and Research Group Leader, Institute for Global Environmental Strategies (IGES), Japan) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และได้กล่าวถึงการดำเนินงานแก้ปัญหา PM2.5 ที่ผ่านมาของประเทศไทย และการจัดทำพระราชบัญญัติฯ อากาศสะอาดประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงกลไกขับเคลื่อนและแนวทางการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน จากกรณีศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน รวมถึงนำองค์ความรู้ไปถอดบทเรียนและจัดทำสรุปออกแบบเชิงปฏิบัติการ และต่อยอดแนวทางความรู้ด้านฝุ่นให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเสวนาดังกล่าวได้รับความสนใจจาก นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ เป็นจำนวนมาก