วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 10 : 21 pm
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 10:21 pm

วช. หนุน วว. และ มรภ.วไลยอลงกรณ์ฯ พัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาพันธุ์ การพัฒนาศักยภาพการผลิต และการใช้ประโยชน์จากเบญจมาศ” และโครงการวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงพันธุ์ การส่งเสริมการปลูกลิเซียนทัสเพื่อการผลิตไม้ดอกกระถางและไม้ตัดดอกให้เหมาะสมกับตลาดและการผลิตในประเทศไทย” ณ วิสาหกิจชุมชนไม้ดอกเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ เป็นแผนงานหลักในการสร้างการเกษตรมูลค่าสูง โดยส่งเสริมการวิจัยด้านการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาด ในการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ไม้ดอกไม้ประดับ โดยผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เกษตรกร นอกจากนี้การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์ ถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ซึ่งจากการสนับสนุกการวิจัยดังกล่าว ก่อให้เกิดความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนไม้ดอกเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ ที่ได้มีการนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ สามารถนําไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงค์ จันจุฬา หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาพันธุ์ การพัฒนาศักยภาพการผลิต และการใช้ประโยชน์จากเบญจมาศ” กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนแก่ วว. ในการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาพันธุ์ การพัฒนาศักยภาพการผลิต และการใช้ประโยชน์จากเบญจมาศ” โดยโครงการนี้มุ่งเน้นการคัดเลือกสายพันธุ์ตัดดอกที่เหมาะสมในพื้นที่ คือ ดอกใหญ่ สีสันแปลกสะดุดดา รูปทรงแตกต่างจากเดิม เพื่อตอบโจทย์ของตลาดลูกค้าใหม่ ที่ใช้ในการจัดองค์ประกอบในโรงแรม ร้านอาหาร ในส่วนของเบญจมาศกระถางได้ปรับเปลี่ยนกระบวนผลิตด้วยการอบวัสดุปลูกด้วยไอน้ำร้อนเพื่อทำลายเชื้อก่อโรค และใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพร้อมปุ๋ยอินทรีย์ในส่วนผสมก่อนทำการปลูกต้นกล้า โดยต้นนั้นมาจากแม่พันธุ์ของเกษตรที่นำกลับเข้าสู่กระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้แม่พันธุ์ที่ปลอดโรค ก่อนมาทำการขยายและผลิตเป็นเบญจมาศ ที่สามารถทำให้ผลผลิตไม่สูญเสียไปในระหว่างการผลิตเบญจมาศกระถาง และสามารถส่งขายได้อย่างต่อเนื่องในฤดูกาลโดยต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากการใช้สารเคมีกำจัดโรค เนื่องจากแม่พันธุ์มีความแข็งมากกว่าแม่พันธุ์เก่าที่ใช้เป็นระยะเวลานาน

ด้าน ดร.นุชรัฐ บาลลา หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงพันธุ์ การส่งเสริมการปลูกลิเซียนทัสเพื่อการผลิตไม้ดอกกระถางและไม้ตัดดอกให้เหมาะสมกับตลาดและการผลิตในประเทศไทย” เปิดเผยว่า วช. ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงพันธุ์ การส่งเสริมการปลูกลิเซียนทัสเพื่อการผลิตไม้ดอกกระถางและไม้ตัดดอกให้เหมาะสมกับตลาดและการผลิตในประเทศไทย” โดยลิเซียนทัสเป็นไม้ตัดดอกที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นไม้ตัดดอกที่ขายดีของตลาดประมูลไม้ดอกไม้ประดับ และจากการปลูกทดสอบพันธุ์ลิเซียนทัสเพื่อการผลิตไม้ดอกกระถางและไม้ตัดดอกให้เหมาะสมกับตลาดและการผลิตในประเทศไทย

โดยการใช้เทคนิคการบ่มเมล็ดลิเซียนทัสด้วยตู้ควบคุมอุณหภูมิสามารถชักนำให้ต้นกล้าลิเซียนทัสแทงช่อดอกได้ คณะนักวิจัยจึงได้ทำการต่อยอดการทดลองปลูกลิเซียนทัสและถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเลย และจังหวัดยะลาปลูกเลี้ยง ลิเซียนทัสเพื่อเชิงพาณิชย์