วันศุกร์, 29 มีนาคม 2024 | 1 : 40 pm
วันศุกร์, 29 มีนาคม 2024 | 1:40 pm

วช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ผนึกกำลัง ยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรมสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นบนเศรษฐกิจ BCG

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ เครือข่ายวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 38 แห่ง มีสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นแกนนำจัดกิจกรรมนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างคุณค่า อัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมกันนี้มี ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และนักวิจัยจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม ณ ห้องประชุมแคทรียา โรงแรมรามา การ์เด้นส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ซึ่งดำเนินการขับเคลื่อนต่อเนื่องในปีที่ 3 ภายใต้เแผนงานวิจัย เรื่อง “การยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG” เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่มีส่วนสำคัญอย่างในการร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นเนื่องจากอยู่ใกล้กับพื้นที่และชุมชน ทำให้เห็นปัญหาของพื้นที่อันนำไปสู่การนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปช่วยยกระดับศักยภาพและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชุมชนโดยรอบ

รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการใช้องค์ความรู้ ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ของชาติและแนวทางนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดีโดยได้ดำเนินการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG ส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ ทั้งด้านมูลค่าและคุณค่าบนฐานอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เกิดผลิตภัณฑ์มากมายซึ่งกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศสู่ระดับสากล โดยการสื่อสารต่อสาธารณชน เกิดการกระจายผลการดำเนินงานจากการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับศักยภาพของชุมชนในวงกว้าง เพื่อการรับใช้สังคมอย่างแท้จริง

ซึ่งในการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนเครือข่ายนักวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนเครือข่ายสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ แบ่งการทำงานเป็น 7 กลุ่มมหาวิทยาลัย ราชภัฏ ประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มศรีอยุธยา มหาวิทยาลัย ราชภัฏกลุ่มอีสานเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มอีสานล่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคเหนือมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคตะวันตก และมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคใต้ โดยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์และพันธกิจเดียวกัน แบ่งพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ ทำหน้าที่ในการนำความรู้เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ พัฒนาและยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในแผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่น ปีที่ 1 และ 2 พัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยว ของฝาก ของที่ระลึก กิจกรรมทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน

รวมทั้งการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน และช่องทางการสื่อสารการตลาดเพื่อทำให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจในระดับชุมชน ในพื้นที่ 48 ชุมชน มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ได้รับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในประเภทต่าง ๆ ขับเคลื่อนต่อเนื่องในปีที่ 3 ผ่านโครงการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG คัดเลือกมา 7 พื้นที่ 7 ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาให้เป็นโมเดลต้นแบบตลอดห่วงโซ่การพัฒนา ยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม CBT-SE ผลิตภัณฑ์สามารถขายได้จริงให้กับกลุ่มผู้ซื้อ/นักท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างความชัดเจนในอัตลักษณ์บนศักยภาพมหาวิทยาลัยราชภัฏและเชื่อมโยงภารกิจความรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานภาคี ทั้งภายในและภายนอกอย่างมีพลวัตบนฐานอัตลักษณ์ชุมชนในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละภูมิภาค บนฐานเศรษฐกิจ BCG ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน