วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2024 | 8 : 04 am
วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2024 | 8:04 am

วช. หนุนสร้างชุมชนต้นแบบความมั่นคงด้านอาหาร เตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากจะคุกคามสุขภาพของประชาชนด้วยปัญหาโรคติดเชื้อแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนด้วย โดยเป็นผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคในประเทศ เช่น มาตรการปิดเมือง ระงับการเดินทางและการดำเนินกิจการและกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ จากผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้สถานประกอบการเป็นจำนวนมากต้องหยุดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร คนจำนวนมากขาดรายได้ กลายเป็น“ประชากรกลุ่มเปราะบาง” ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ เพราะไม่มีกำลังซื้อ อาหารมีราคาแพงขึ้น การปิดตัวของแหล่งจำหน่ายอาหาร เกิดการกักตุนอาหาร การกระจายอาหารไม่ทั่วถึงเพราะระบบการขนส่งหยุดชะงัก ถึงแม้ประเทศไทยจะมีความสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรและอาหารการกิน แต่ในภาวะวิกฤตของโรคระบาดส่งผลให้ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารปรากฏเด่นชัดและขยายตัวออกไปมากขึ้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การพัฒนาชุมชนต้นแบบความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับรายได้ของครัวเรือนโดยการเชื่อมโยงศักยภาพของพื้นที่ เพื่อรองรับและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต

รศ.ดร.ปาจรีย์ ผลประเสริฐ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เปิดเผยว่า
ผลกระทบจากกวิฤตการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร แม้กระทั่งชุมชนในชนบทที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร ซึ่งโดยปกติจะมีปัญหาการกระจายทรัพยากรอาหารไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว เมื่อเกิดการระบาดของโควิด- 19 จึงเกิดเป็นวิกฤตการณ์ซ้ำเติมคนในชุมชน หลายครอบครัวต้องไปขออาหารจากวัดมารับประทาน จึงได้ขอทุนสนับสนุนจาก วช. โครงการ “การพัฒนาชุมชนต้นแบบความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับรายได้ของครัวเรือนโดยการเชื่อมโยงศักยภาพของพื้นที่ เพื่อรองรับและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”

โดยมี รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid19) ของครัวเรือนในประเทศไทย การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับรายได้ของครัวเรือนโดยการเชื่อมโยงศักยภาพของพื้นที่ และสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) และประยุกต์ใช้ระบบภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการพัฒนาชุมชนต้น พร้อมกับจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับรายได้ของครัวเรือนในการรองรับและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระดับพื้นที่ ภูมิภาคและระดับประเทศ โดยคัดเลือกชุมชนสำหรับการศึกษาวิจัยไว้ 10 แห่ง ใน 10 จังหวัด 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ ลำปาง อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ภาคกลาง 2 จังหวัด ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ชัยภูมิ สุรินทร์ สกลนคร และภาคใต้้ 2 จังหวัด คือ สงขลา ภูเก็ต

การดำเนินงานในเบื้องต้นหลังจากสำรวจสถานะความมั่นคงด้านอาหารของแต่ละชุมชนแล้ว โครงการฯ จะส่งเสริมและพัฒนาให้แต่ละชุมชนมีความมั่นคงด้านอาหาร โดยพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ การมีอาหารเพียงพอ สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารเพื่อการมีสุขภาพและอนามัยที่ดี และความมีเสถียรภาพด้านอาหารที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา แต่ละชุมชนอาจจะมีความต้องการในการพัฒนาแตกต่างกันออกไปตามบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของแต่ละชุมชน บางชุมชนอาจจะต้องการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตทางการเกษตร การแปรรูป การพัฒนากระบวนการจัดการด้านการตลาด ในขณะที่อีกชุมชนหนึ่งอาจจะต้องการให้สนับสนุนตลาดชุมชนด้านเกษตรและอาหารปลอดภัย และการสร้างแหล่งอาหารทางการเกษตร เป็นต้น เมื่อชุมชนเกิดความมั่นคงด้านอาหารแล้ว ลำดับถัดไปก็จะจำลองสถานการณ์ในกรณีเกิดภาวะวิกฤตทางด้านสาธารณสุขที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ทำให้คนในชุมชนมีอาหารบริโภคไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหาร หรือแหล่งผลิตอาหาร ร้านค้า ไม่สามารถกระจายสินค้าได้ตามปกติ

ดังนั้น จึงต้องพัฒนารูปแบบและกระบวนการจัดการโดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน เพื่อให้กลุ่มคนที่เปราะบาง และคนในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างเพียงพอ การพัฒนาชุมชนต้นแบบนี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งและเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต