กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินตามนโยบายรัฐบาล คือการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนสามารถ “อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน” ซึ่งมีทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เป็นรายครัวเรือน แบบพุ่งเป้า ค้นหาปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพราะปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน ส่งผลให้เกิดความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิต รวมถึงการขาดโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลาย ๆ ด้าน และส่งผลต่อการพัฒนาในระดับประเทศตามมาในที่สุด ซึ่งทีมปฏิบัติการได้ลงไปช่วยเหลือใน 5 มิติหลัก ๆ ในด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ตอนนี้สำเร็จแล้วถึง 649,848 ครัวเรือน คิดเป็น 99.53% ของเป้าหมายที่กำหนด (ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565)
รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายนิวัติ น้อยผาง เผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้การนำของ นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดวาระเรื่องการขจัดความยากจน มุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุดภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นการวางเป้าหมายเพื่อลดความยากจนในมิติต่างๆ ครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ที่ให้ความสำคัญการพัฒนาคนทุกช่วงวัย สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างหลักประกันทางสังคมแบบพุ่งเป้า ในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จับมือกับศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านรูปแบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting และ Facebook live ในหัวข้อ “Show & Share ชุมชนนักปฏิบัติ ขจัดความยากจน” ทั้งหมดจำนวน 6 ตอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีสื่อชุดองค์ความรู้ให้บุคลากร และประชาชนทั่วไปได้ศึกษาองค์ความรู้ หรือเครื่องมือการทำงานใหม่ ซึ่งทั้ง 6 ตอนที่ผ่านมามีผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ ที่มีความเชี่ยวชาญ มาบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมรับฟัง โดยได้รับการตอบรับและการมีส่วนร่วมสำหรับผู้รับชมเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการนำไปขับเคลื่อนงานต่อไป ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook กรมการพัฒนาชุมชน Fanpage
รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวต่อว่า “สำหรับการปิดท้ายซีรีย์ “SHOW & SHARE ชุมชนนักปฏิบัติ ขจัดความยากจน” เป็นการจัดเสวนาครั้งสุดท้ายในซีรีย์นี้ ที่เราได้จัดการเสวนาบนเวทีใหญ่ ที่จะมาพูดคุยถึงการปฏิบัติการขจัดความยากจนในพื้นที่ อันเป็นบทเรียน และตัวอย่างความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มาแลกเปลี่ยน มา Show & share ให้เกิดพลังการขับเคลื่อน มีต้นแบบที่เห็นได้ชัดที่นำมาแลกเปลี่ยน เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกช่วงวัย อย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
หัวข้อที่ 2 ได้แก่ หัวข้อ ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน (GOV LAB) มีผู้ร่วมบรรยาย ได้แก่ นางสาววรานี อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการกอง 3 รักษาราชการแทน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ,นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน, นางกนกกร สุทธิอาจ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี หัวหน้าทีมนวัตกรพัฒนาผลิตผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนดอนข่า จังหวัดขอนแก่น ,นายยอดชาย ผ้าเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง หัวหน้าทีมนวัตกรพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนบ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย และนางวาสนา ไขว้พันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี หัวหน้าทีมนวัตกรพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ โคก หนอง นา โดยผู้สนใจสามารถรับชมได้ย้อนหลังผ่านทาง Facebook “กรมการพัฒนาชุมชน Fanpage” และ “สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย” ได้อีกด้วย
โดยได้แบ่ง การเสวนาออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ หัวข้อแรก “ชุมชนนักปฏิบัติ ขจัดความยากจน” มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายสิทธิชัย พรทิพย์พิทักษ์ พัฒนาการจังหวัดตาก หัวเรือใหญ่การขับเคลื่อนงานที่มีผลการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายในระบบ TPMAP แล้วจำนวน 16,866 ครัวเรือน 24,261 ปัญหาคิดเป็น 100%, นายประดิษฐ์ นัดทะยาย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน จังหวัดขอนแก่น ที่จะมาเล่าถึงการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติผสมกับหลักการและประสบการณ์การพัฒนาชุมชน,
2 พื้นที่นักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงที่นำเสนอโครงการเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประชาชนพื้นที่ ได้แก่ นายธราวุฒิ ช่วยเกิด นายอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา , นางกัลยดา หฤทัยวรรณ พัฒนาการอำเภอเมืองยะลา, นายสมพร พูลเพิ่ม พัฒนาการอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ และนายธนกร ตราครบุรี นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น พัฒนากรผูกเสี่ยวเกี่ยวก้อยของจังหวัดขอนแก่น ที่จะมาบอกถึงเทคนิคการของบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนจากจังหวัด และภาคเอกชน
โดยรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “กิจกรรมเสวนา “SHOW & SHARE ชุมชนนักปฏิบัติ ขจัดความยากจนนี้ จะทำให้เกิดความรู้ที่เป็นความรู้จากการลงมือทำจริง การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เป็นบทเรียนความสำเร็จที่เป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างได้ องค์ความรู้ที่เรานำมา Show & share จะถูกส่งต่อไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ อีก เป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ ซึ่งสอดคล้องทิศทางการพัฒนาหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดและอำเภอ ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ต่อไป”