วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2024 | 5 : 30 am
วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2024 | 5:30 am

วช.หนุนทีมวิจัย ม.ราชภัฏอุดรธานี ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยนวัตกรรมผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำสำหรับโคเนื้อและกระบือ เน้นใช้วัตถุดิบและเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่มาพัฒนาเป็นสูตรอาหาร ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ราคาแพงและทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า อาหารสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงสัตว์ประสบความสำเร็จ โดยในกระบวนการเลี้ยงสัตว์พบว่าต้นทุนส่วนใหญ่ประมาณ 70 % เกิดจากค่าอาหารสัตว์ ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีน ส่งผลให้ต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเกษตรกรได้รับผลตอบแทนลดลง ดังนั้นการใช้ทรัพยากรอาหารสัตว์ที่มีในท้องถิ่นมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นแนวทางในการลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ได้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงให้ทุนอุดหนุนภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2564 (การพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางพระราชดำริ) กับโครงการวิจัย “การพัฒนาอาชีพและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของคนในชุมชนด้วยนวัตกรรมการผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำสำหรับโคเนื้อและกระบือ” โดยมี รศ. ดร.นิราวรรณ กุนัน จากสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้แบบยั่งยืน

รศ. ดร.นิราวรรณ กุนัน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาหารสัตว์มีราคาสูงมาก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทางด้านผลตอบแทนหรือผลกำไร คณะวิจัยซึ่งมาจากหลากหลายสาขาทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีองค์ความรู้ของการผลิตอาหารสัตว์ใช้เอง โดยเน้นนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น เศษเหลือทิ้งทางการเกษตรและผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร มาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีสูตรการผลิตที่ไม่เหมือนกันตามแต่ชนิดของวัตถุดิบของแต่ละชุมชน

ทั้งนี้คณะวิจัยได้มีการนำองค์ความรู้เข้าไปช่วยในการผลิตโคขุนของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ หลายชนิด เช่น ต้นมันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง ยอดอ้อย เมล็ดยางพารา ฟางข้าว เป็นต้น

คณะนักวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อวิเคราะห์คุณภาพในห้องปฏิบัติการก่อนทำการประกอบสูตรอาหารข้น พร้อมทั้งพัฒนาสูตรอาหารหมักที่ใช้สัดส่วนของใบและหัวมันสำปะหลังหมักที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงขุนโค พร้อมทั้งอบรมเพิ่มทักษะความชำนาญในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อใช้เองภายในกลุ่มเกษตรกร พบว่าเกษตรกรสามารถดำเนินการผลิตอาหารข้น และอาหารหมักเพื่อใช้เองภายในฟาร์มสำหรับเลี้ยงขุนโคของสมาชิก

ผู้วิจัย กล่าวว่า เกษตรกรสามารถผลิตอาหารข้นเพื่อใช้เองทดแทนการซื้ออาหารสำเร็จรูป ซึ่งทำให้มีต้นทุนลดลง 2.60 บาท/ กิโลกรัม หรือ 13,000 บาท/ รอบการผลิต (4 เดือนต่อโค 24 ตัว) และสามารถใช้หัวและใบมันสำปะหลังหมักทดแทนอาหารข้นได้มากกว่า 50 % ซึ่งทำให้มีต้นทุนลดลง 6.40 บาท/ กิโลกรัม หรือ 41,000 บาท/ รอบการผลิต ทำให้เกษตรกรมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการหมุนเวียนเอาเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่มาเพิ่มมูลค่าโดยใช้เป็นอาหารสัตว์
“สิ่งที่ดีใจคือ เกษตรกรสามารถผลิตและขายได้ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และมีการต่อยอดซึ่งในโครงการนี้ เราจะพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักวิจัยชุมชน เป็นนักวิจัยต้นแบบในพื้นที่ เพื่อที่จะขยายองค์ความรู้ ไปสู่วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ด้วย”

​ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช.ในปี 2565 เพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่พื้นที่อื่น ๆ เช่นวิสาหกิจชุมชนใน จ.หนองคาย ซึ่งจะมีการพัฒนาแบบครบวงจรทั้งเรื่องการปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อโคและมีการเชื่อมโยงด้านการตลาด