วันนี้ (9 กรกฎาคม 2565) เวลา 15.30 น. พลเรือเอก สมชาย ณ บางช้าง อุปนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้แทน นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ นายวรศักดิ์ ขันติบัณฑิต ผู้อำนวยการกองพัฒนากีฬาเป็นเลิศ ผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทย และ นางสาวบุษบรรณ จีนเจริญ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมให้การต้อนรับทีมนักแล่นใบไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันเรือใบ รายการ The 2022 Arkas Optimist World Championship ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโบดรัม ประเทศตุรกี โดยในรายการดังกล่าว หม่อมหลวง เวฆา ภาณุพันธ์ุ ทำผลงานได้เป็นอันดับที่ 1 คว้าแชมป์โลกประเภทบุคคลไปครอง ได้สำเร็จ ในขณะที่นักแล่นใบชาวไทยอีก 4 คน มีผลการแข่งขันดังนี้ อันดับที่ 28 ชนาธิป ทองกล่ำ อันดับที่ 60 นัณวธรญ์ ศุภอัมพลวิชญ์ อันดับที่ 78 ปิติภูมิ เจริญผล อันดับที่ 79 พชรพรรณ องคะลอย ซึ่งทีม Optimist World มี ม.ร.ว. พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ุ เป็นผู้ฝึกสอน นาวาโท ศิริพงษ์ เวทการ เป็นผู้จัดการทีม และ จ่าเอก ทศพล มหาวิเชียร เป็น ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน
พลเรือเอก สมชาย กล่าวว่า สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ ทาง สมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ และ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนหลัก ของ สมาคมฯ ขอแสดงความยินดีกับ หม่อมหลวง เวฆา และทีมนักกีฬาชุด Optimist World ที่ประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กับสมาคมกีฬาแข่งเรือใบ และ ประเทศไทย โดยความสำเร็จในครั้งนี้ความสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญในการที่จะดึงดูดนักกีฬารุ่นใหม่ให้เข้ามาเล่นเรือใบมากขึ้น ทำให้จะมีตัวเลือกนักกีฬาในอนาคตเพิ่มมากขึ้น สำหรับในส่วนของทีมนั้นถือได้ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาพลมที่มีความแตกต่างจากประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นและผู้ฝึกสอนมีแนวทางในการฝึกซ้อมที่มากขึ้น เพื่อให้นักกีฬาสามารถแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย
พลเรือเอก สมชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมต่อไปในอนาคตโดยเฉพาะในส่วนของเรือใบประเภท Optimist ทางสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ จะเพิ่มความพร้อมทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ ผู้ฝึกสอน ให้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการส่งนักกีฬาไปฝึกซ้อมหาประสบการณ์ในต่างประเทศให้มากขึ้น และสำหรับนักกีฬาที่ อายุครบเกณฑ์ของเรือประเภทนี้ สมาคมฯ จะส่งเสริมให้ขึ้นไปเล่นเรือที่ใหญ่ขึ้น โดยจะเริ่มจาก เรือ ILCA4 หรือ 29er ก่อนที่จะขยับขึ้นไปเล่นเรือประเภทอื่นๆเพื่อทดแทนนักกีฬารุ่นพี่ๆต่อไป
ในช่วงท้าย พลเรือเอก สมชาย กล่าวว่า จากความสำเร็จในครั้งนี้ ทางสมาคมฯ โดย พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย นายกสมาคมฯ จะมอบเงินสนับสนุน จากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ และเงินสนับสนุนจาก สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ ให้แก่ หม่อมหลวงเวฆา และผู้ฝึกสอน ก่อนเป็นประธานในการประชุม คณะกรรมการสมาคมฯ ครั้งที่ 4/2565 ในวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม บก.ทร. 3 กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ด้าน นางสาว บุษบรรณ กล่าวว่า ปตท.สผ. ได้มอบเงินสนับสนุน แก่ สมาคมกีฬาแข่งเรือแห่งประเทศไทยฯ ปีละ 15 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตามกรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนานักกีฬาเรือใบ ต่อยอดจากการมีส่วนร่วมสนับสนุนสมาคมกีฬาแข่งเรือใบ ฯ มาตั้งแต่ปี 2549
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพนักกีฬาเรือใบของสมาคมฯ ในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันรายการระดับนานาชาติในต่างประเทศ เพื่อเก็บคะแนนและทดสอบสนาม รวมถึงให้ผู้ฝึกสอนต่างประเทศที่มีประสบการณ์มาแนะนำเทคนิคให้นักกีฬาและผู้ฝึกสอนไทย การจัดหาอุปกรณ์ใบเรือและเรือใบที่เหมาะสมในการฝึกซ้อมและแข่งขัน อีกทั้ง การสนับสนุนการจัดรายการนานาชาติที่สำคัญต่างๆ เพื่อสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศชาติต่อไป
สำหรับ หม่อมหลวง เวฆา ภาณุพันธุ์ เป็นนักกีฬาเรือใบประเภท Optimist ซึ่งเป็นเรือใบประเภทเยาวชนที่มีจำนวนผู้เล่นมากที่สุดในโลก และ 95% ของนักกีฬาเรือใบในโอลิมปิกได้ผ่านเรือใบประเภทนี้ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ หม่อมหลวง เวฆา เป็นบุตรของ หม่อมราชวงศ์ พีรานุพงศ์ ภาณุพันธุ์ กับ คุณกรวิก ภาณุพันธ์ุ ณ อยุธยา และยังเป็นหลานปู่ของ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ ภาณุเดช ภาณุพันธุ์ เจ้าของฉายาเจ้าดาราทอง
หม่อมหลวง เวฆา เริ่มเข้าสู่วงการเรือใบตั้งแต่อายุ 8 ปี เนื่องจากได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว ซึ่งมี เสด็จปู่พระองค์เจ้าพีระ เป็นนักกีฬาเรือใบในการแข่งขันโอลิมปิคเกมส์ และคุณตา นายวิโรจน์ นวลแข ผู้ชนะเลิศเหรียญทองซีเกมส์ในเรือใบประเภท J24 หม่อมหลวง เวฆา ได้ทุ่มเทฝึกซ้อมด้วยความวิริยะอุตสาหะมาโดยตลอด เป็นระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ณ สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีบิดาเป็นผู้ฝึกสอนมาตลอด ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา หม่อมหลวง เวฆา ได้ชนะเลิศรายการแข่งขันชิงแชมป์โลก ที่เมืองโบดรัม ประเทศตุรกี ซึ่งนับเป็นความสำเร็จสูงสุดของเรือใบ optimist ในเวทีโลก