วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2024 | 9 : 52 pm
วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2024 | 9:52 pm

วช.จับมือ มทส. นำร่องใช้เชื้อเพลิงขยะพลาสติกใน SMEs เครื่องปั้นดินเผา ขนาดเล็ก

วช.จับมือ มทส. นำร่องใช้เชื้อเพลิงขยะพลาสติกใน SMEs เครื่องปั้นดินเผา ขนาดเล็ก

วันนี้ (27 ม.ค. 2565) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมและสนับสนุน “โครงการศึกษาแนวทางการนำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) จากมูลฝอยชุมชนมาใช้ประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก”ของ ผศ.ดร.พรรษา ลิบลับ แห่งสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา/เซรามิก เพื่อเป็นทางเลือกเสริมในการใช้เชื้อเพลิงขยะร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวลเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.พรรษา ลิบลับ หัวหน้าโครงการ เล่าว่า ในปัจจุบันได้มีการสนับสนุนให้มีการคัดแยกขยะ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการจัดการขยะที่ปลายทางที่ต้องการนำมาเป็นเชื้อเพลิง (Refuse-derived Fuel, RDF) อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงขยะ RDF ที่ได้ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากการส่งไปโรงงานปูนซีเมนต์ หรือโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งมีอยู่จำกัด เพียงไม่กี่สิบแห่งในประเทศ ทำให้การขนส่งมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่คุ้มค่า ขยะ RDF ที่มีและกระจายอยู่ทั่วประเทศจึงยังถูกกองทิ้งไว้ที่โรงงานคัดแยก ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น นักวิจัยจึงได้ศึกษาแนวทางการนำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) จากขยะมูลฝอยชุมชน มาใช้ประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจ (SMEs) หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กให้มากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

โดยทั่วไป เชื้อเพลิงขยะมีอยู่หลายประเภท แต่เนื่องจากโรงงานคัดแยกทั่วไป จะคัดแยกออกมาได้เป็นเชื้อเพลิงขยะประเภทที่ 2 (RDF-2) ซึ่งมีคุณภาพต่ำ มีความชื้นสูง เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจึงกังวลด้านผลกระทบของระบบ เนื่องจากจะทำให้อุณหภูมิของระบบลดลง และเกิดการปลดปล่อยมลพิษออกมา นอกจากนี้ยังมีกลิ่นเหม็นจากการย่อยสลายที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงไม่เหมาะแก่การนำมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเดิมได้ ดังนั้น นักวิจัยจึงทดลองใช้ RDF-3 (ขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกและมีความชื้นต่ำ ~ 20% w.b.) และ RDF-5 (ขยะมูลฝอยที่ผ่านการอัดแน่นให้มีลักษณะเป็นแท่ง/ก้อน) มาใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ แทน ได้แก่ โรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก อุตสาหกรรมผลิตเครื่องปั้นดินเผา/เซรามิก และอุตสาหกรรมการผลิตพื้นรองพาเลทไม้ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (เชื้อฝืน เศษวัสดุทางการเกษตร)ในการผลิตพลังงานอยู่แล้ว

จากการลงพื้นที่ใช้เชื้อเพลิงขยะ RDF-3 และ RDF-5 ร่วมกับ หจก.โคราชแสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ โดยภาพรวม พบว่า เชื้อเพลิง RDF สามารถใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงหลักชีวมวลที่โรงงานใช้อยู่ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการเผาไหม้เดิมที่ใช้ มีการควบคุมปริมาณและอัตราการป้อนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สภาวะการทำงานของระบบเดิม เช่น อุณหภูมิ ความดัน เป็นต้น โดยเชื้อเพลิงขยะได้ในช่วงอุณหภูมิเตาตั้งแต่ 600 องศาเซลเซียสขึ้นไป จึงจะได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด ในช่วงเวลาประมาณ 20 ชั่วโมง และใช้ RDFไป 200 กิโลกรัม ซึ่งไม่เกิดการปนเปื้อนของมลพิษบนผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา/เซรามิก จากการตรวจหาสารตะกั่ว แคดเมียม รวมทั้งการปลดปล่อยมลพิษ ทั้งที่เป็นของแข็ง และทางอากาศ โดยมีค่าไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้

ด้าน นายบุญฤทธิ์ พยุหไพศาล ผู้จัดการ หจก.โคราชแสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ เสริมว่า ทางโรงงานมีความยินดีอย่างยิ่งที่งานวิจัยด้านการใช้เชื้อเพลิงขยะได้ถูกนำมาทดสอบใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวลที่โรงงานใช้อยู่เดิมแล้ว ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในอนาคตมองว่าเชื้อเพลิงขยะจะมีความจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของสังคม ที่อาจทำให้โรงงานหาวัสดุเชื้อเพลิงชีวมวลมาใช้ได้ยากขึ้น มีต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น หากมีการส่งเสริมใช้เชื้อเพลิงขยะจากโรงคัดแยกขยะในบริเวณใกล้เคียงมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี สร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ยังคงติดขัดด้านต้นทุน RDFที่ยังสูงอยู่ และปัจจัยอื่นๆ อีก ที่รอการสนับสนุนและพัฒนาต่อไป

นอกจากนี้ จากการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการปรับปรุงคุณภาพ RDF-2 เป็น RDF-3 RDF-4 และ RDF-5 ในขนาด 20 ตัน/วัน เพื่อให้เหมาะสมกับการป้อนเข้าโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น แสดงให้เห็นกระแสเงินสดสุทธิการลงทุน 17.77 ล้านบาท และการคืนทุนในเวลา 6.64 ปี เมื่อเทียบกับระยะเวลาโครงการ 10 ปี ซึ่งหากสามารถนำเอา RDF มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ก็จะเป็นการลดปริมาณขยะลงได้ ซึ่งผู้ประกอบการยินดีที่จะใช้ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านต้นทุนวัตถุดิบที่สูงกว่าเชื้อเพลิงชีวมวล การพัฒนากฎหมาย มาตรการ มาตรฐานต่าง ๆ ส่งเสริมให้มีโรงคัดขยะเพิ่มมากขึ้น และสร้างกลไกสนับสนุนเงินทุน เปิดตลาดกลางให้กับกลุ่ม SMEs ให้สามารถรับเอาเชื้อเพลิงขยะไปใช้ได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การปรับปรุง ออกแบบเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมต่าง ๆให้เหมาะสมกับการใช้เชื่อเพลิง RDF ต่อไป ซึ่งนับเป็นอีกแนวทางร่วม ที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะมูลฝอยชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.พรรษา กล่าว