วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2024 | 8 : 31 am
วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2024 | 8:31 am

“GIT” เสริมแกร่ง SMEs ไทย จับมือ “RJC” ยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีฯ เติบโตยั่งยืนภายใต้มาตรฐานธรรมาภิบาล

“GIT” เปิดตัวโครงการการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเข้าสู่มาตรฐานธรรมาภิบาล “RJC” รุกขยายลู่ทางการส่งออกไปยังตลาดระดับสากล และ High Jewelry Brand” และผลักดันไทยสู่ “ศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับ”ของโลก

27 พฤศจิกายน 2567: นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติหรือ GIT เป็นประธานเปิดตัวโครงการยกระดับ SMEs ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เข้าสู่มาตรฐานธรรมาภิบาล (Responsible Jewellery Council; RJC) เพื่อรองรับการส่งออกและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับระดับประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ ห้องคริสตัล บอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพ สีลม

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็น1 ใน 5 สินค้าส่งออกหลักของไทยที่นำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2567) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มูลค่า 12,448.20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 442,948 ล้านบาท เติบโตได้ 16.58% ขณะที่ผู้ประกอบการไทยทั้งในส่วนการผลิต ค้าส่ง ค้าปลีก มีจำนวน 13,322 ราย โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นSMEs สัดส่วนถึง 90% หรือคิดเป็นจำนวน 11,990 ราย ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ซึ่งมีการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยเพิ่มขึ้น 7.30%, 14.79% และ 38.53% ตามลำดับ

ปัจจุบันเกิดการตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทานต้องแสดงความโปร่งใส ถูกต้อง และไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันจึงมีนโยบายการส่งเสริมและให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนัก และให้ข้อมูลของผู้ผลิตวัตถุดิบและเครื่องประดับและอัญมณีที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย คือ RJC CoP ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืน สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Jewellery Supply Chain) นับตั้งแต่เหมืองจนกระทั่งผู้ค้าปลีก รวมถึงการกำหนดมาตรฐานที่เป็นแนวทางปฏิบัติไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อเป็นการปรับตัวและเตรียมพร้อมในการรักษาตลาดส่งออกและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการอัญมณีแครื่องประดับไทย ให้สามารถมุ่งสู่มาตรฐานสากล ในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก และ เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย “สู่ความยั่งยืน”อย่างแข็งแกร่ง

GIT จึงได้มีการขับเคลื่อน “โครงการการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เข้าสู่มาตรฐานธรรมาภิบาล ร่วมกับ Responsible Jewellery Council (RJC) ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และมุ่งเน้นในการสร้างมาตรฐานและการรับรองตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมครอบคลุมตั้งแต่การทำเหมืองไปจนถึงการค้าปลีก ด้วยการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ การป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการคอร์รัปชั่น เป็นต้น ซึ่งมีการออกใบรับรองมาตรฐานแก่สมาชิก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาจากแหล่งที่มีความรับผิดชอบและผ่านกระบวนการผลิตที่มีจริยธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs ในการบริหารจัดการธุรกิจเข้าสู่มาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นสากล

การศึกษาและการผ่านมาตรฐานข้อบังคับจาก RJC ที่ถูกระบุไว้ “เป็นใบเบิกทางสำคัญในการส่งออกไปยังตลาดระดับสากล หากเราผ่านมาตรฐานดังกล่าวจะทำให้คู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลกมีความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าถึงมาตรฐานระดับโลกสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ รวมทั้งเป็นการรับรู้และความเข้าใจความสำคัญของมาตรฐาน RJC และเชื่อมโยงระหว่าง SMESที่ผลิตสินค้าอย่างมีธรรมมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับผู้บริโภคซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั่วโลก จำนวน 1,537 หน่วยงาน (Find an RJC Member • Responsible Jewellery Council; 29 ตุลาคม 2567) สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และอินเดีย โดยมีผู้ประกอบการของประเทศไทยเป็นสมาชิกในปัจจุบัน จำนวน 113 หน่วยงาน

ทั้งนี้ GIT ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจถึงความสำคัญของมาตรฐานโดยเฉพาะมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิต การค้าและการบริการให้ได้มาตรฐานที่กำหนด จบสามารถได้รับการตรวจรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับสิทธิในการตรวจรับรองมาตรฐานนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(Non Tariff Barriers:NTBs) และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนโดยให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้ประกอบการจำนวน 40แห่ง อบรม/สัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการ RJC พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ จำนวน 200 คน ซึ่งจะมีการประกาศผลผู้ประกอบการที่ผ่านคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการในวันที่ 3 มกราคม 2568 สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ คุณสมบัติเบื้องต้นจะต้องเป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นผู้ประกอบการ SMEs เท่านั้นสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ ฝ่ายวิจัยและพัฒนามาตรฐาน สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ : 02 634 4999 ต่อ 451-457 อีเมล : rd@git.or.th/ gitstandard@git.or.th