วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2024 | 3 : 30 pm
วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2024 | 3:30 pm

สจล. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิพร้อมเสนอแนะให้เปลี่ยนเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เชื่อ ระยะยาวคุ้มค่า และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. รองศาสตราจารย์ สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน จัดประชุมแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ จากโครงการก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ ณ ห้องประชุมแคแสด อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สจล. โดยมีผู้แทนชุมชน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องของ สจล. และบุคลากร เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นดังกล่าว

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 เรื่องผลกระทบของโครงการก่อสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ ต่อประชาชน ณ ห้องประชุมอาคารสมาคมศิษย์เก่าสถาบันทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่ง สจล. พบว่าประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับทราบถึงผลกระทบของโครงการอย่างชัดเจน จึงต้องการสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้มีการแสดงความเห็นและรับฟังความคิดเห็น เกิดการรับรู้ร่วมกันมากที่สุด

โดย สจล. ได้มีข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน แทนการสร้างทางยกระดับ ถึงแม้ว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า แต่ในระยะยาว ก็คุ้มค่า และทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หลังจากนี้จะรีบจัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะต่าง ๆ ของ สจล. เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อดำเนินการร่วมกันศึกษาข้อมูลในการก่อสร้างอุโมงค์ การออกแบบ คำนวนงบประมาณในการก่อสร้าง เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาสนับสนุนการก่อสร้างแบบอุโมงค์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 3 สัปดาห์

ทางด้านผู้แทนชุมชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเห็นด้วยกับ สจล. ที่เสนอแนะการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน และอยากให้ สจล. ช่วยผลักดันเพื่อให้เกิดโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างทางยกระดับตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเสนอรูปแบบดังกล่าว โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการก่อสร้างตอม่อค่อมเส้นทางเดิม เป็นก่อสร้างทางยกระดับทางฝั่งทิศใต้เพียงฝั่งเดียวก็ตาม เพราะประชาชนก็ยังคงได้รับผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ มูลค่าทรัพย์สิน รวมถึงต้องมีพื้นที่บางส่วนถูกเวนคืน ซึ่งมีประชาชนกว่า 1,000 ครัวเรือน สถานศึกษา ศาสนสถานรวมกันกว่า 10 แห่ง และ สถานประกอบการราว 200 แห่งรับผลกระทบในการก่อสร้างเช่นเดิม
ทั้งนี้หากคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเชิญผู้แทนชุมชน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มารับฟังการนำเสนอข้อมูล ในการประชุมครั้งต่อไป