วันเสาร์, 5 ตุลาคม 2024 | 7 : 05 pm
วันเสาร์, 5 ตุลาคม 2024 | 7:05 pm

สวพส. ปั้นนักพัฒนาพื้นที่สูง หนุนองค์กรภาครัฐเรียนรู้หลักสูตร นพส.

เมื่อวันที่ 12 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดอบรมหลักสูตร “นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง หรือ นพส.” เพื่อเสริมสร้างความรู้
ความเชี่ยวชาญในหลักและวิธีการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวงแก่ผู้นำชุมชน บุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่สูงแบบบูรณาการสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบายสำคัญของประเทศ

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ปัญหาและความท้าทายของพื้นที่สูง นโยบายรัฐ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก โดยได้กล่าวว่า ภารกิจสำคัญ ของ สวพส. คือ ส่งเสริม สนับสนุนงานโครงการหลวง ขยายผลสำเร็จของโครงการหลวงไปยังพื้นที่สูงในประเทศและดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนนานาประเทศ การดำเนินงานหลายปีที่ผ่านมา
สวพส. มีประสบการณ์และผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ได้รับรางวัลเลิศรัฐของรัฐบาลและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs (SDG Good Practices) เป้าหมายที่ 2, 12, 13 และ 15 ของสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UN DESA) และอีกหลายรางวัล ซึ่งพร้อมที่จะถ่ายทอดให้แก่บุคลากรของ สวพส. บุคลากรของหน่วยงานบูรณาการ และผู้ที่สนใจทั่วไป

สวพส. ได้จัดฝึกอบรม หลักสูตร “นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวงรุ่นที่ 3 หรือ นพส.3” โดยนำประสบการณ์ในการดำเนินงานในการพัฒนาพื้นที่สูงมาถอดบทเรียนกระบวนการวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงแบบเฉพาะเจาะจงและแม่นยำ ด้วยองค์ความรู้ เครื่องมือที่มีและการมีส่วนร่วมของชุมชน หลักสูตรนี้จะเน้นให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากหน่วยงานต่างๆ ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันจากการปฏิบัติจริงด้วยการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์บริบท สภาพแวดล้อม ปัญหา ข้อจำกัดของชุมชนเพื่อนำมาจัดทำแผนงาน โครงการพัฒนา ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝนและแม่มะลอ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนพื้นที่ต้นแบบของการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูง

อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ของภาคการเกษตรที่เป็นปัญหาท้าทายระดับชาติด้วยการพัฒนาที่มีส่วนร่วมของชุมชน การร่วมบูรณาการงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนประสบผลสำเร็จและเป็นต้นแบบของการนำองค์ความรู้หลักและวิธีการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่สูงที่มีสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่ที่ สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ การบริหารจัดการพื้นที่และการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง การสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับระบบเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรมูลค่าสูง และการพัฒนาผู้นำเกษตรกร (Smart Farmer) เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาตาม Smart Agricultural Curve รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงและเป้าหมายการพัฒนาของโลกในปัจจุบันและอนาคต เช่น SDGs BCG และ Carbon neutrality เป็นต้น

การดำเนินงานพัฒนาต้องอาศัยหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม การลงมือปฏิบัติจริง และคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงตรัสกับข้าราชบริพารที่ได้ตามเสด็จไปในการทรงงานว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น”

นายเมธี พยอมยงค์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า หลักสูตร นักพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง นับเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำเร็จของ สวพส. อันเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงานพัฒนาพื้นที่สูงจริงตลอดหลายปีที่ผ่านมา สามารถสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือ ในการพัฒนาพื้นที่สูงแบบบูรณาการ โดยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรในปีนี้จะมีทั้งบุคลากรของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ศศช.) หน่วยงานบูรณาการที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรของ สวพส. เพื่อให้มีความรู้เข้าใจหลักการและวิธีการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที และที่สำคัญยังเป็นการสร้างโอกาสที่จะกระจายการพัฒนาไปสู่พื้นที่สูงต่าง ๆ ของประเทศไทย ตามนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะก่อให้เกิดการประสานพลัง ในการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและบ้านเมือง ต่อไป
ติดตามได้ที่ Link นี้ https://www.youtube.com/watch?v=TMj3Jnwfx00