วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2024 | 3 : 32 pm
วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2024 | 3:32 pm

วช. ยกระดับ “หมามุ่ย” สกัดเป็นเซรั่มบำรุงผม ช่วยให้เส้นผมดกดำ แก้ปัญหาผมหงอกก่อนวัย

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช.

นำ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมบริษัท คอสเม่ อินโนเวชั่น จำกัด ที่ทำการผลิตผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผมจากสารสกัดหมามุ่ย โดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนางสาวอนงค์นุช ต๊ะคำ บริษัท คอสเม่ อินโนเวชั่น ให้การต้อนรับ ณ ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

“หมามุ่ย” ได้ยินชื่อแล้วหลายคนอาจจะไม่กล้าเข้าใกล้เพราะกลัวว่าจะคันจนเกาไม่หยุด แต่จริง ๆ แล้วสรรพคุณที่ซุกซ่อนอยู่นั้นมากมายกว่าที่คิด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เห็นถึงประโยชน์สรรพคุณที่สำคัญจึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำภา จิมไธสง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คิดค้นและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผมจากสารสกัดหมามุ่ย” โดย บริษัท คอสเม่ อินโนเวชั่น จำกัด ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมให้กลับมาดกดำ ทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์การย้อมสีผม

รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำภา จิมไธสง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมกับนางสาวอนงค์นุช ต๊ะคำ
แห่งบริษัท คอสเม่ อินโนเวชั่น จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมให้กลับมาดกดำ เพื่อทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม และเนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันสูงและมีความนิยมใช้สมุนไพรไทยมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยมีการส่งเสริมการปลูกหมามุ่ยเป็นจำนวนมาก แต่ตลาดที่รองรับและการแปรรูปไปใช้มีจำนวนน้อย ทางทีมวิจัยอยากช่วยเกษตรกรผู้ปลูกหมามุ่ยในจังหวัดเชียงราย จึงนำผลเมล็ดหมามุ่ยอินเดีย ที่คุณสมบัติสร้างเม็ดสีลานินได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสารแอลโดปาทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดสีทำให้สีผมดำขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นหลอดเลือดทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณหนังศีรษะดีขึ้น ทำให้รากผมแข็งแรง มาแปรรูปให้เป็นสารสกัดพร้อมใช้งาน พร้อมนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับลดผมหงอกได้อย่างมีมีประสิทธิภาพ

นางสาวอนงค์นุช ต๊ะคำ แห่งบริษัท คอสเม่ อินโนเวชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผมจากสารสกัดหมามุ่ย เริ่มจากการศึกษาสภาวะการในการสกัดสารแอลโดปาจากเมล็ดหมามุ่ย พบว่า ผงเมล็ดหมามุ่ยเมื่อผ่านกระบวนการแช่แข็งจะได้ลักษณะเป็นผลสีเหลืองอ่อน และไม่มีการปนเปื้อนโลหะหนักทั้งแคดเมียม ตะกั่ว สารหนู และปรอท ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข คุณสมบัติ สารสกัดเมล็ดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์แชมพู และผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผม ที่คิดค้นขึ้นมีเนื้อสูตรตำรับใส สีน้ำตาลเข้มและมีความหนืดพอ ผลิตภัณฑ์แชมพูมี ฟองเยอะ ช่วยให้ผมนุ่มลื่นไม่พันกัน และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ส่วนผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผม มีคุณสมบัติ ซึมซับไว และไม่ทำให้หนังศีรษะเหนียวหรือมัน

ทีมวิจัยได้นำผลิตภัณฑ์แชมพู ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผม ไปทดสอบในอาสาสมัคร พบว่า ไม่เกิดการระคายเคือง ผลิตภัณฑ์สามารถเปลี่ยนแปลงสีผมจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลแดงถึงสีดำได้ หลังจากการใช้ภายใน 2 สัปดาห์ และเมื่อนำเส้นผมมาส่องกล้องขยาย พบว่าเส้นผมมีเม็ดสีมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณโคนผม นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ศึกษาพฤติกรรม และปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกชื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดูแลเส้นผมเพื่อผมดกดำลดหงอก จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน พบว่าส่วนใหญ่เริ่มมีหงอกในช่วงอายุ 31-40 ปี และเลือกวิธีแก้ปัญหาผมหงอกโดยการย้อมสีผม 50.25% และใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูและเซรั่มบำรุงผม 33.50% และอาสาสมัครที่ใช้สินค้าที่ไม่มีแบรนด์สินค้าเฉพาะเจาะจงที่ใช้ 31.25% ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสในการทำตลาดของผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยนี้เป็นอย่างมาก เพียงแต่สมุนไพรที่กลุ่มตัวอย่างใช้ยังไม่ทราบถึงประสิทธิภาพของสารสกัดจากเมล็ดหมามุ่ย ทีมวิจัยจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการตีตลาด เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าแก่ผู้บริโภคในวงกว้าง รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผมกลับมาดกดำได้อย่างเป็นธรรมชาติ แทนการย้อมผมแบบเก่า จึงสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์แชมพูและเซรั่มบำรุงผมที่มีสารสกัดจากเมล็ดหมามุ่ย มีศักยภาพในการออกสู่ตลาดได้จริง มีประสิทธิภาพการแก้ปัญหาผมหงอกได้เป็นอย่างดี ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และสามารถทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจได้ ตอบโจทย์ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพรับรองผลด้วยงานวิจัย

ปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายทางตลาดออนไลน์แล้ว โดยจัดจำหน่ายชุดละ 1,690 บาท ซึ่งได้รับผลตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างมาก ทำให้มียอดการจัดจำหน่าย 24 ล้านบาท/ปี อีกทั้งยังได้รับจ้างผลิตและพัฒนาสินค้าให้กับผู้ประกอบการ MSME รายอื่น ๆ อีกด้วย