วันที่ 30 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “บูรณาการดำเนินงานด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ” ที่ครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญ มลพิษทางอากาศ มลพิษจากขยะ มลพิษอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งระหว่าง 10 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, กรมอนามัย, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร และ สสส. ณ โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพฯ
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช. ดำเนินงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในประเด็นด้านแก้ปัญหามลพิษในหลายประเด็น เช่น การลดขยะเป็นศูนย์(Zero Waste) PM2.5 โดย วช. มีความร่วมมือกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในภารกิจแก้ไขปัญหา PM2.5 ของประเทศตั้งแต่ปี 2563 โดย คพ. ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยในประเทศไทย จัดทำโครงการวิจัยต่าง ๆ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจาก วช. เพื่อนำข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่ง คพ.ได้นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปใช้ในการตัดสิน และชี้แจงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน และปัจจุบันได้ขยายขอบเขตบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการให้ครอบคลุมปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และขยะ ความร่วมมือกับ สสส. พร้อม 9 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นอีกขั้นหนึ่งในการดำเนินงานกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งการสนับสนุนข้อมูลวิชาการ การสร้างเสริมองค์ความรู้ การป้องกันมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทาง สุขภาพ และเป็นการสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี โดย วช. พร้อมขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย เพื่อสร้างสรรค์งานหรือกิจกรรมที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนต่อไป
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า “การลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำจุดยืนว่า สสส. และ 9 หน่วยงาน จะส่งเสริมสุขภาวะทุกคนบนแผ่นดินไทย ให้มีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีในทุกมิติ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่าน 3 วัตถุประสงค์หลัก 1. หาแนวทางควบคุมและลดความเสี่ยงจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม 2. สนับสนุนการสร้างพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่ปลอดภัยตอบสนอง
ต่อสภาพปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม 3. สร้างระบบสังคม วัฒนธรรม จิตสำนึกที่เอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่ความร่วมมือในเรื่องของการสนับสนุนข้อมูลวิชาการ การสร้างเสริมองค์ความรู้ การป้องกันมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทาง สุขภาพ และการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม “นำสู่สังคมสิ่งแวดล้อมสุขภาวะ” ได้อย่างแท้จริง