วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 7 : 32 pm
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 7:32 pm

วช. จับมือ สวทช. และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ส่งเสริมเยาวชนขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565”

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่งทั่วประเทศ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมเด็กและเยาวชน ผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นประธานการลงนาม ณ เวที Highlight Stage ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ซึ่งจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ตลอดหลายปีที่ผ่านมา วช. ได้ทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณและจัดทำสัญญารับทุนกับ สวทช. และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายตามความร่วมมือทั้ง 10 แห่งในทุกภูมิภาค ภายใต้แผนงาน “แผนพัฒนานักประดิษฐ์และนักวิจัยรุ่นใหม่” ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition : YSC) ซึ่งเป็นการสนับสนุนเยาวชนในระดับมัธยมศึกษา ให้มีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ และ 2. โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest : NSC) เป็นการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่เยาวชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย สร้างนักเขียนโปรแกรมที่มีทักษะและความสามารถสูงให้กับวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งการจัดกิจกรรมการประกวดแข่งขันดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และฝึกทักษะวิจัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อต่อยอดผลงานสู่เวทีในระดับนานาชาติ และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนก้าวสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัย วิศวกรวิจัย หรือ นวัตกรในอนาคตต่อไป

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมกับ วช. ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา โดยกิจกรรมในวันนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กและเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่ง สวทช. ได้รับการสนับสนุนงาบประมาณจาก วช. จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition : YSC) และ 2. โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest : NSC) โดยกิจกรรมการประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งเวที YSC และ NSC นอกจากเป็นความร่วมมือของ สวทช. กับ วช. แล้ว ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายอีก 10 แห่ง ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานภูมิภาค ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง ที่ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนจากทั่วประเทศมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ วช. ยังให้ทุนสนับสนุนโครงการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ ครูวิทยาศาสตร์ฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ภาคฤดูร้อน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและครูวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะการวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เยาวชนได้ค้นพบตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ และเห็นเส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ช่วยในการตัดสินใจเลือกสาขาวิชาที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองในอนาคตต่อไป

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมเด็กและเยาวชน ผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในครั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยเครือข่าย 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในอนาคต

สำหรับประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Reseach Expo 2022)” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22 – 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานและติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th, Facebook Fanpage: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0 2579 1370 – 9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524