“พลเอก ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดดีเดย์บังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ 1 มิ.ย. 65 ปลดล็อคข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ โดยจัดเตรียม 4 ระบบปฏิบัติงานไว้ให้เข้าไปใช้บนคลาวด์กลางภาครัฐ ครอบคลุม ระบบบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ระบบบริหารจัดการความยินยอม ระบบจัดการการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และระบบจัดการการแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
วันนี้ (23 พ.ค.65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “แนวทางการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” ว่า การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้ความสำคัญ ควบคู่ไปกับการผลักดันเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ
สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 65 มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปได้ปฏิบัติตาม โดยนับเป็นหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมในการใช้บริการออนไลน์ในชีวิตประจำวัน
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลเข้าใจถึงความกังวลและข้อจำกัดด้านต้นทุนของหน่วยงานภาครัฐ ในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ผ่านมาจึงมอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินโครงการแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคล โดยออกแบบระบบปฏิบัติงานทั้งสิ้น 4 ระบบ ซึ่งสอดรับกับหน้าที่ของภาครัฐภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย
1.ระบบบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Record of Processing Activities Platform) 2.ระบบบริหารจัดการความยินยอม (Consent Management Platform) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการความยินยอมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 3.ระบบจัดการการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject Access Request Platform) และ 4.ระบบจัดการการแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Data Breach Notification Platform) ซึ่งสามารถแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ภายใน 72 ชั่วโมง
“พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงประเทศชาติ ได้แก่ ประชาชน รับทราบวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดแจ้ง และมีสิทธิต่างๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของตน ขณะที่ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จะมีมาตรฐานการจัดเก็บ ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล และระดับประเทศ จะมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สอดคล้องหลักการสากล เป็นต้น” พลเอก ประยุทธ์กล่าว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า แพลตฟอร์มทั้ง 4 ระบบดังกล่าว ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GPPC) ได้รับการออกแบบให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ และสอดรับกับหน้าที่หลักของหน่วยงานรัฐภายใต้กฎหมายฉบับนี้ โดยทำงานอยู่บนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ส่งเสริมการดำเนินงานตามหน้าที่ของหน่วยงานรัฐภายใต้กฎหมาย และบริหารจัดการการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้สะดวก มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย อีกทั้ง เป็นระบบปฏิบัติงานแบบเปิด (Open Source) ซึ่งทุกส่วนราชการสามารถนำไปปรับใช้ในหน่วยงานของตนเอง โดยเป็นการประหยัดงบประมาณโดยรวมของชาติในระยะยาว
“พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ เป็นหนึ่งในกฎหมายสำคัญด้านดิจิทัล 12 ฉบับ ที่รัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลฯ ผลักดันเพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างมาตรฐานการใช้ เก็บ เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคลของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ของไทย ที่ต้องแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและการบริหารจัดการข้อมูล” นายชัยวุฒิกล่าว