สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567” และ มอบรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน ในโครงการ Thailand New Gen Inventor Award : I-New Gen Award 2024 ท่ามกลางการลุ้นรางวัล ร่วมเชียร์ และร่วมลุ้นผล โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะผู้บริหาร วช. ร่วมยินดี โดยมี สมาคมวิศวกรรมชีวภาพการแพทย์ไทย สมาคมเยาวชนนักประดิษฐ์ (ประเทศไทย) สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และกลุ่ม บริษัท อาทิตย์ ร่วมให้การสนับสนุนนักประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลสูงสุดเข้าสู่เวทีนานาชาติ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 จัดขึ้นเป็นปีที่ 25 ความสำเร็จของการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ในปีนี้ นอกจากจะเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่เกิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชน แล้ว ยังเป็นเวทีที่จุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจในด้านการประดิษฐ์คิดค้น ให้แก่เยาวชน รุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไปข้างหน้า
การจัดงานในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์การวิจัย การประดิษฐ์คิดค้น สู่การนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผลงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานอย่างเนืองแน่น ตลอดระยะเวลาการจัดงานคือ โซนแสดงผลงาน Thailand New Gen Inventors Award หรือที่รู้จักกันว่ารางวัล I-New Gen แบ่งพื้นที่นำเสนอผลงานเป็น 3 โซนเพื่อแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์จากนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยม อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ในปีนี้คัดเลือกผลงานจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จากทั่วประเทศกว่า 1,000 ผลงาน 330 สถาบัน และผ่านการพิจารณาคัดเลือกเพื่อนำผลงานมาจัดแสดงภายในงานวันนักประดิษฐ์ จำนวน 650 ผลงาน ซึ่งนอกจากจัดแสดงผลงานในนิทรรศการแล้ว ทุกทีมจะต้องขึ้นเวทีเพื่อนำเสนอแนวคิด วิธีการ เทคนิคต่างๆของสิ่งประดิษฐ์ ต่อคณะกรรมการอีกด้วย
ในปีนี้มีทีมที่ได้รับรางวัลในประเภทต่าง ๆ มีดังนี้
🔸รางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษา
– ด้านเกษตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผลงาน “ดีบักส์ ออร์แกนิค พลัส” สารกำจัดแมลงชีวภาพจากเปลือกไข่
– ด้านอาหาร ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงาน โปรเอ็น, นวัตกรรมเคลเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลระบบขับถ่าย
– ด้านการแพทย์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน การออกแบบและพัฒนาขดลวดชนิดเปลี่ยนทิศทางการไหลของเลือดแบบขยายตัวได้เองจากโลหะผสมจำรูปสำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง
– ด้านพลังงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดแดงคาโรติดจากวัสดุฉลาดที่ขยายตัวได้เองสำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
– ด้านท่องเที่ยว ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน “มู-เต-ลาย” กิจกรรมศิลปะเชิงความเชื่อที่ส่งเสริมการเห็นคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
🔸รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา ได้แก่
– ด้านเกษตร ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสงขลา ผลงาน เครื่องผสมเกสรดอกทุเรียน
– ด้านอาหาร ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ผลงาน เครื่องคั่วเมล็ดกาแฟด้วยโอ่งดินโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น(local wisdom)
– ด้านการแพทย์ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ผลงาน เครื่องวัดปริมาณการสูญเสียเลือดจากการผ่าตัด DTEC
– ด้านพลังงาน ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ผลงาน สมาร์ทฟาร์มกระบองเพชร
– ด้านท่องเที่ยว ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ผลงาน ผลิตภัณฑ์ผ้าทอร่วมสมัยลายอัตลักษณ์ประจำถิ่น “ศรีพุนพิน”
🔸รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา ได้แก่
– ด้านเกษตร ได้แก่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) ผลงาน ชุดแขนกลแบบติดตั้งกับอากาศยานไร้คนขับเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่เกษตรกรรม
– ด้านอาหาร โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ผลงาน ซีซี-ลูแบ็ก
– ด้านการแพทย์ ได้แก่ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ผลงาน ควอดเพลนระบบควบคุมอัตโนมัติด้วย GPS เพื่อการขนส่งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์
– ด้านพลังงาน ได้แก่ โรงเรียนชลราษฎรอำรุง ผลงาน รถสำรวจอัจฉริยะ เพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมการวางไข่ของเต่าตนุ
– ด้านท่องเที่ยว ได้แก่ โรงเรียนโนนสะอาดพิทยาสรรค์ ผลงาน เขียนลายถมทองด้วยคอมพิวเตอร์
ความสำเร็จในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งวันปิติของคณะผู้จัดงานโดย วช. รวมถึงเหล่าคณาจารย์ผู้ควบคุมทีมและกลุ่มนักประดิษฐ์เยาวชนจากทั่วทุกภาคของประเทศที่ได้ส่งผลงานเข้าประกวดในปีนี้ จากผลประกาศรางวัลจะเห็นได้ว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความสนใจที่จะพัฒนาเป็นนักวิจัยและสร้างนวัตกรรมในอนาคต จึงถือเป็นเวทีสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย ซึ่งจะนำไปสู่ช่องทางในการขยายฐานบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่จะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคต ดั่งคำที่ว่า “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม นำประเทศ”
ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมรายชื่อกลุ่มนักประดิษฐ์เยาวชนที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ได้ที่ รายละเอียดเพิ่มเติม https://inventorsday.nrct.go.th