วันพฤหัสบดี, 12 ธันวาคม 2024 | 4 : 08 am
วันพฤหัสบดี, 12 ธันวาคม 2024 | 4:08 am

โครงการวิจัยการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (บพข.) จัดกิจกรรมเพิ่มแหล่งหญ้าทะเลในการดูดซับคาร์บอนที่ตำบลเกาะกลาง จังหวัดกระบี่

เมื่อวันที่ 29 กันยายน – 1 ตุลาคม 2566 โครงการศึกษาศักยภาพของระบบนิเวศแนวปะการังเพื่อเป็นแหล่งชดเชยการปล่อยคาร์บอน ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. เป็นประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้จัดกิจกรรมเพิ่มแหล่งหญ้าทะเลในการดูดซับคาร์บอน ณ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เครือข่ายด้านประมง หาดเจ้าอูฐ ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน พร้อมด้วยอาจารย์ และนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้อำนวยการแผนงานท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นำเสนอผลการศึกษาศักยภาพของระบบนิเวศแนวปะการังเพื่อเป็นแหล่งชดเชยการปล่อยคาร์บอน ร่วมกับคุณอรอนงค์ เพ็งจำรัส กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคุณจิระพงศ์ จีวรงคกุล มูลนิธิเอ็นไลฟ (ENLIVE FOUNDATION) เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล

พร้อมทั้งดำเนินการปลูกหญ้าทะเลที่หาดเจ้าอูฐ โดยมีคุณเรืองเดช คล่องดี ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรฯ เกาะกลาง และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชุมชนท้องถิ่น โรงเรียน ฯลฯ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การอนุรักษ์

และฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่มีมูลค่าการขายสินค้าและบริการจากการท่องเที่ยว โครงการฯ นี้ ใช้วิธีการเก็บหญ้าทะเลสองชนิด ได้แก่ หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) และหญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata) ที่หลุดลอยมาตาม กระแสน้ำเนื่องจากคลื่นลมแรง แล้วนำหญ้าทะเลมาอนุบาลในบ่อก่อนนำมาใช้เป็นต้นกล้าสำหรับการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในธรรมชาติ