วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 11 : 50 am
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 11:50 am

วช. เปิดบ้าน ชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัย (NRCT Open House 2023)

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567
และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม (NRCT Open House 2023) ด้านการรองรับสังคมสูงวัย
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ
เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2566 ในรูปแบบ onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ อาคาร วช.1 และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom การถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2567 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม (NRCT Open House 2023) ระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2566 ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่สี่ ในด้านการรองรับสังคมสูงวัย โดยกรอบการสนับสนุนการวิจัยด้านการรองรับสังคมสูงวัย ได้มองถึงประเด็นโจทย์การวิจัยและความท้าทายในด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากสถานการณ์ประชากรสูงอายุในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แนวโน้มวัยสตรีเจริญพันธุ์ที่ลดลง ส่งผลต่อการเกิดของประชากรไทยในอนาคต อัตราการเกิดที่ลดลง และอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลต่อโครงสร้างประชากร การขาดแคลนแรงงานนอนาคต ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ นำไปสู่ความเปราะบางในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต อีกทั้งรวมไปถึง อัตราการสูงวัยในแต่ละจังหวัดที่ไม่เท่ากัน ข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์ดังกล่าวต้องการข้อมูลจากงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการวางแผนพัฒนาระบบ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุในอนาคต

ในปี 2567 ประเด็นการวิจัยด้านการรองรับสังคมสูงวัย มุ่งเน้นด้านการพัฒนาผู้สูงอายุในภาคชนบท/เกษตรและเมืองสามารถพึ่งตนเองได้ มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีระดับความสำเร็จตามดัชนีพฤฒพลังผู้สูงอายุสูงขึ้น มุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นสังคมสูงวัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและการอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย รวมทั้งส่งเสริมให้ประชากรไทยมีการเตรียมการเข้าสู่ วัยสูงอายุ ด้วยการใช้ผลงานวิจัยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามกรอบการวิจัยใน 4 ประเด็นดังนี้ 1) นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีพลังและยังประโยชน์ เพื่อการวิจัยและพัฒนารูปแบบนวัตกรรมทางสังคม เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อการคุ้มครอง ดูแล และส่งเสริมการใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุ 2) เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง เพื่อการส่งเสริมการสร้างงานสร้างรายได้ที่เหมาะสมตรงตามทักษะของผู้สูงวัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สร้างความตระหนักในคุณค่าของตนเอง และสร้างแรงจูงใจในการทำงานของผู้สูงอายุในรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปในอนาคต 3) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ และช่วยเหลือการทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของวัยแรงงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ 4) การอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย การวิจัยและพัฒนาแนวทางหรือมาตรการที่สนับสนุนการช่วยเหลือและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนทุกช่วงวัย ในการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่มีความสำคัญของแผนงาน ววน. ที่จะขับเคลื่อนภายใต้กรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566 – 2570 ถือว่าเป็นประเด็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการวิจัยในด้านการรองรับสังคมสูงวัย เพื่อแก้ปัญหาและสร้างโอกาส พร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขของคนไทยทุกคน รวมถึงพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

ถัดมา เป็นการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านการรองรับสังคมสูงวัย ประจำปีงบประมาณ 2567” มีผู้ร่วมเสวนาและประเด็นเสวนา ดังนี้
ประเด็น “การรองรับสังคมสูงวัย : โจทย์ท้าทายของสังคม” โดย คุณกอบกุล กวั่งซ้วน
ประเด็น “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีพลังและยังประโยชน์” โดย คุณศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์
ประเด็น “การอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย” โดย ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ
ประเด็น “การพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” โดย รศ. ดร.ศรีสวัสดิ์ ทรัพย์สมบูรณ์
และประเด็น “Impact Pathway ประเด็นสำคัญของการเขียนโครงการวิจัย” โดย ดร.มารยาท สมุทรสาคร

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้นำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ “NRIIS” โดย คุณเอนก บำรุงกิจ
รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ คุณศยามล ไชยปุรณะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ

และ “การแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านการรองรับสังคมสูงวัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม” ในหัวข้อ “ภาพรวมผลสำเร็จจากผลงานวิจัยนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัย” โดย คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการรองรับสังคมสูงวัย วช.

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นต่างๆ ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
รศ. ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประเด็น “การมีงานทำของแรงงานสูงวัย” และโครงการวิจัย เรื่อง “การวางแผนและเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุของแรงงานในพื้นที่ชนบท และเมือง”
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประเด็น “สานพลังชุมชน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย” และโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนากลไกความร่วมมือสานพลังชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้สูงอายุในชุมชนอย่างยั่งยืน”
ว่าที่ ร.ต.ดร.อุดม สุวรรณพิมพ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประเด็น “บูรณาการเครือข่าย เพื่อการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่” และโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยภาคประชาสังคม”
ดร.พศิน อิศรเสนา ณ อยุธยา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประเด็น “นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ” และโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ช่วยการได้ยินในผู้สูงอายุ”
ผศ. ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็น “นวัตกรรมมุ่งเป้า ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน” และโครงการวิจัย เรื่อง “หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายแบบใช้พลังงานต่ำผสานการขับเคลื่อนด้วยล้อเพื่อช่วยเหลือการเดินของมนุษย์”
ซึ่งกิจกรรมการเสวนาในวันนี้จะนำไปสู่แนวคิดในการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรม ให้กับนักวิจัย และ ผู้ที่สนใจ ได้เห็นภาพของกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัยในประเด็นต่างๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และการแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมของ วช. (NRCT Open House 2023) มีประเด็นการชี้แจงกรอบการวิจัยที่น่าสนใจ 9 ด้าน ในระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2566 ดังนี้ 1) ด้านการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงและศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอาเซียน 2) ด้านสังคมและความมั่นคง 3) ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ 4) ด้านการรองรับสังคมสูงวัย 5) ด้านสัตว์เศรษฐกิจ 6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 8) ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร และ 9) ด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM) ซึ่งการชี้แจงกรอบการวิจัย ทั้ง 9 ด้าน นั้น จะทำให้นักวิจัยได้รับทราบข้อมูล ที่สำคัญไปสู่การพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในอนาคต