วันพุธ, 4 ธันวาคม 2024 | 7 : 28 pm
วันพุธ, 4 ธันวาคม 2024 | 7:28 pm

ชาวไร่ยาสูบหนุนคลังรื้อภาษีบุหรี่ หวังกู้ฐานะ ยสท. มีเงินเหลือช่วยชาวไร่มากขึ้น

ภาคีชาวไร่ยาสูบฯ หนุนคลังทบทวนโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบ หลังขึ้นภาษีปี 2664 ทำรายได้ชาวไร่ ยสท. และรัฐบาลดิ่งฮวบ แต่บุหรี่หนีภาษีระบาดหนัก วอนรัฐหาอัตราภาษีใหม่ที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย และช่วยให้ ยสท. มีกำไรมากขึ้น จะได้มีเงินจ่ายช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตของชาวไร่ตามที่ร้องขอ

นายสงกรานต์ ภักดีจิตร ตัวแทนภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เลย์จังหวัดเพชรบูรณ์ เผยหลังทราบข่าวการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กำลังหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อทบทวนอัตราภาษีใหม่ที่เหมาะสมกับทั้งชาวไร่ ยสท. รายได้รัฐ และไม่สร้างปัญหาบุหรี่เถื่อนว่า “ชาวไร่ยาสูบไม่อยากให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่อีกแล้ว เพราะตั้งแต่ปี 2560 ที่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตมา 2 ครั้ง และยังมีการเก็บภาษีมหาดไทยเพิ่มอีก 10% ทำให้โควตาขายใบยาสูบของพวกเราลดลงประมาณ 50% ติดต่อกันมา 5 ปี และคงไม่มีโอกาสได้โควตาคืนอีกแล้ว ปีนี้ยังโชคร้ายซ้ำเติม เพราะค่าปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย น้ำมัน ค่าแรง สูงขึ้นอีกเกือบ 60% ทำให้ต้นทุนการทำไร่ยาสูบเพิ่มขึ้น ยิ่งมีโควตาน้อย ยิ่งเสี่ยงต่อการขาดทุน ขายใบยาได้ไม่พอกับต้นทุน”

“พวกเราทำหนังสือร้องขอไปยัง ยสท. ให้ช่วยค่าปัจจัยการผลิตเต็มจำนวน แต่ ยสท. จะช่วยแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น แล้วจะไปของบกลางจากรัฐบาลมาช่วยอีกครึ่งหนึ่ง เพราะ ยสท. ผลประกอบการไม่ดีติดต่อกันมาหลายปีทำให้ไม่มีเงินมาดูแลช่วยเหลือชาวไร่ หากมีการแก้ไขโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษี ส่วน ยสท. ก็จะได้ตั้งราคาบุหรี่ใหม่ให้มีกำไรต่อซองมากขึ้นได้”
รายงานข่าวระบุว่าตั้งแต่การขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบปี 2560 ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบหดตัวลงอย่างมาก รัฐบาลเก็บรายได้ภาษียาสูบได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2560 ที่เก็บได้ 6.8 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 5.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ขณะที่กำไรของ ยสท. ก็ลดลงกว่า 98% โดยในปี 2560 มีกำไร 9 พันล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 100 ล้านบาทในปี 2565

“อยากให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และ ยสท. รีบสรุปเรื่องโครงสร้างภาษีใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2565 นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่กับชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัวทั่วประเทศ เพราะชาวไร่จะเริ่มขายใบยาของฤดูกาล 2565/2566 กันแล้ว แต่พวกเรายังไม่รู้เลยว่าจะได้เงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตครบตามที่ขอไปหรือไม่ และเงินชดเชยโควตาก็เพิ่งได้รับเพียง 2 ปี ถ้าหากมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นชาวไร่คงต้องรอไปอีกหลายเดือน จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้”