ราคาเดิมเท่า 34 โครงการ ที่อนุมัติก่อนหน้า หากช้า ปัญหาตามมาเพียบ
กมธ.พลังงาน เร่ง กพช.ออกระเบียบรับซื้อไฟ 21 โครงการเพิ่มเติม
ราคาเดิมเท่า 34 โครงการ ที่อนุมัติก่อนหน้า หากช้า ปัญหาตามมาเพียบ
“กมธ.พลังงาน จี้ กพช. เร่งออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า 21 โครงการ ที่ อปท. เสนอเพิ่มเติม โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในอัตราเดิม ที่ประกาศรับซื้อไฟ 34 โครงการ ตามประกาศ 6 พ.ค.65 ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้อง ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็น “วาระแห่งชาติ” ด้าน “ธารา” แจง หากอนุมัติ/อนุญาต โครงการฯ ที่ระยอง ล่าช้า ผลกระทบตามมาเพียบ หลุมฝังกลบรับได้เพียง 8 เดือน ขยะเก่าตกค้าง กว่าล้าน 1,000,000 ตัน “ชาวระยอง” หนุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เฟส 2 ให้เร็ว เพื่อกำจัดขยะตกค้างให้หมด หากทำไม่เสร็จใน 2 ปี เกิดผลผลกระทบวงกว้าง ทั้ง การส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตคนระยองแย่ ทั้งๆ ที่ระยองอยู่ในแผนการพัฒนาเมือง EEC ตามนโยบายของรัฐ”
นายกิตติกร โล่สุนทร ประธานกรรมาธิการ การพลังงาน, นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการ ได้มีการพิจารณา “โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)” ซึ่งได้มีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าว 3 ครั้งๆ ที่ 99 วันที่ 27 ก.ค. 2565 ครั้งที่ 100 วันที่ 4 ส.ค.2565 และครั้งที่ 102 วันที่ 25 ส.ค.2565 ซึ่งในโครงการดังกล่าว มีความคืบหน้าดังนี้
โครงการที่มีความสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) มีจำนวน 11 โครงการ โดยเป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 5 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ จำนวน 6 โครงการ
โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบแล้ว จำนวน 34 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้า 324.75 เมกะวัตต์ ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าแล้ว เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2565 เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนรูปแบบ Feed – in – Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) สำหรับจำนวน 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 282.98 เมกะวัตต์ (รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 324.75 เมกะวัตต์) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568 – 2569 ซึ่งโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) สำหรับปี 2565 ได้กำหนดอัตรา FiT อยู่ที่ 5.08 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี และมีอัตรา FiT พรีเมียม ในช่วง 8 ปีแรก อยู่ที่ 0.70 บาทต่อหน่วย โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) สำหรับปี 2565 ได้กำหนดอัตรา FiT อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี
และยังมีโครงการเพิ่มเติมอีกจำนวน 21 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้า 200.99 เมกะวัตต์ (จำหน่ายไฟฟ้า 167.3 เมกะวัตต์) ในโครงการดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยยังไม่พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2564 มีมติเห็นชอบข้อเสนอกรอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed – in – Tariff (FiT) ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และเห็นว่าเพื่อมิให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า โครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มเติมจากรายชื่อเดิม 23 โครงการที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) รายงานการดำเนินงานมายังกระทรวงพลังงานในครั้งนี้ โครงการใหม่ที่จะมีในอนาคตเห็นควรให้ กพช. กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า และ กกพ. พิจารณาออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าก่อน เพื่อนำอัตราและเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าไปพิจารณาประกอบการกำหนดค่ากำจัดขยะ (Tipping Fee) ที่มีความเหมาะสมและดำเนินการคัดเลือกโครงการต่อไป
จากกรณีดังกล่าว สถ. ได้มีหนังสือที่ มท 2820.2/9304 วันที่ 20 ก.ค.2565 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม หากกระทรวงพลังงานเร่งรัด การดำเนินการดังกล่าวแล้วก็จะทำให้โครงการดังกล่าวนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้
จากกรณีที่เกิดขึ้นคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า เรื่องนี้ควรมีการเร่งรัดเวลาในการพิจารณาโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าของ สถ. โดยควรลดระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ไม่เกิน 2 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ในการพิจารณาโครงการดังกล่าวของกระทรวงมหาดไทยไม่ควรพิจารณาอนุมัติโครงการเป็นรายกลุ่ม ก่อนเสนอให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า และ สถ.ควรปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาโดยคำนึงถึงความพร้อมและความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการฯ แต่ละแห่งเป็นหลักก่อน เพื่อให้โครงการที่มีความพร้อมและมีความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการผ่านการพิจารณาอนุมัติให้เร็วขึ้น ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะอ้างว่าทำตามขั้นตอน และหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยก็ตาม ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ และนำปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยของ อปท. ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลเป็นตัวนำ การพิจารณาโครงการอนุมัติ/อนุญาต ก็สามารถทำให้รวดเร็วได้
“ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ทยอยส่งโครงการให้กระทรวงพลังงานพิจารณาดำเนินการต่อ หลังจากที่ได้เห็นชอบแล้ว และส่งให้ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ผลการดำเนินการกลับมีความล่าช้า โครงการที่ อปท. เสนอมา 34 โครงการ ต้องรอการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงาน ทั้งๆ ที่ โครงการดังกล่าวกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบส่งไปตั้งแต่ต้นปี 2561 แต่ กพช. พึ่งเห็นชอบให้รับซื้อไฟ เมื่อ 6 พ.ค.2565 นอกจาก 34 โครงการที่ กพช.เห็นชอบรับซื้อไฟแล้ว ยังมีโครงการที่ อปท. เสนอเพิ่มเติมมาอีก 21 โครงการ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 200.99 เมกะวัตต์ กระทรวงมหาดไทยยังไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ ต้องรอให้กระทรวงพลังงานมีมติเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟใหม่ เรื่องนี้กรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า โครงการที่ อปท.ส่งเพิ่มเติมมาจำนวน 21 โครงการนั้น กระทรวงพลังงาน ควรประกาศรับซื้อไฟในอัตราเดิม ตามที่ได้ประกาศไป เมื่อ 6 พ.ค.2565 เช่นเดียวกับ 34 โครงการ ที่ กพช. ประกาศไปแล้ว ไม่ควรมีการประกาศใหม่”
นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จังหวัดระยองกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็น “วาระแห่งชาติ” อีกทั้งได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ประเทศไทยไร้ขยะซึ่งเป็นแนวทางเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคม ปลอดขยะ นั้น อบจ.ระยอง ได้ดำเนินโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบ ครบวงจร โดย อปท. ทุกแห่งในจังหวัดระยองจะส่งขยะมากำจัด ตามแบบรวมกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะ (Clusters) ปัจจุบันระยองมีขยะที่กำจัด วันละ 1,000 ตัน/วัน ขยะจะใช้เป็นเพลิงโรงไฟฟ้าขยะ RDF ระยะที่ 1 จำนวน 500 ตัน/วัน เหลือขยะอีกวันละ 500 ตัน/วัน ที่ยังไม่ได้รับการกำจัด
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปี 2565 ปริมาณขยะจังหวัดระยอง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,200 ตัน/วัน ในอีก 5 ปี และเพิ่มเป็น 1,800 ตัน/วัน ในอีก 10 ปี ตามการเติบโตของเมืองประชากร เนื่องจาก ระยองเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม อบจ.ระยอง
ด้วยเหตุนี้ระยองได้จัดทำโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ระยะที่ 2 ขึ้น เพื่อการกำจัดขยะที่เหลือ และขยะจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 และที่ผ่านมา อบจ.ระยอง ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประชาชนในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการ ต่างเห็นชอบให้ อบจ.เร่งรัดรีบดำเนินโครงการการก่อสร้างโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อการกำจัดขยะที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปีของระยอง และได้เสนอโครงการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา
“โครงการฯ ดังกล่าว กระทรวงพลังงาน ควรเร่งรัดออกระเบียบการรับซื้อไฟในส่วนที่ อปท.เสนอเพิ่มเติมมา 21 โครงการ โดยเร่งด่วน เพื่อที่โครงการที่ อปท.เสนอเพิ่มเติมมาสามารถดำเนินการต่อเนื่องไปได้ อบจ.ระยอง จะได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาขยะที่เหลืออีก 500 ตัน/วัน ซึ่งหากการพิจารณาโครงการล่าช้า อบจ.ต้องหาหลุมฝังกลบ เพิ่มเติม ในขณะนี้หลุมฝังกลบขยะ ของ อบจ.ระยอง มีขยะตกค้างสะสมมากกว่า 1,000,000 ตัน และหลุมฝังกลบเดิม รองรับขยะได้อีกเพียง 8 เดือนเท่านั้น หากหลุมฝังกลบที่มีอยู่เต็ม อบจ.ระยอง ไม่มีพื้นที่ที่ไหนจะฝังกลบขยะได้ ระยองจะกลายจังหวัดที่ขยะล้นเมือง
ที่ผ่านมา อบจ.ระยอง ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเพิ่มหลุมฝังกลบขยะเพิ่มเติม ประชาชนชาวระยองไม่เห็นด้วยที่จะมีหลุมฝังกลบขยะเพิ่มอีก ชาวระยองเห็นด้วย ที่ อบจ.ระยอง จะกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ระยะที่ 2 เพิ่มเติม เพื่อการกำจัดขยะตกค้างและที่เกิดใหม่ให้หมดไป หากไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลา 2 ปี จังหวัดระยอง ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายด้าน ทั้งการส่งเสริมลงทุนของภาคอุตสาหกรรม ภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ปัญหาสังคม รวมถึง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชนชาวระยอง ที่อยู่ในแผนการพัฒนาเมือง EEC ตามนโยบายรัฐบาล ย่ำแย่ลง ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อการแก้ไขปัญหาการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการให้เร็วขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาขยะที่ระยอง”
นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. เพิ่มเติม จำนวน 21 โครงการ โครงการทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานเพื่อนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ กำจัดขยะมูลฝอยของ อปท. จำนวน 8 โครงการ โครงการที่อยู่ระหว่างการแก้ไขมติคณะกรรมการ เพื่อเสนอคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย 8 โครงการ โครงการที่อยู่ระหว่างการแก้ไขมติคณะกรรมการเพื่อเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง 2 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการแก้ไขตามมติคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเพื่อนำเสนอ รมว.มหาดไทย 1 โครงการ คือ โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของเทศบาลตำบลตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี แต่อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังรอการพิจารณาอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้ การดำเนินการของเทศบาลตำบลตระการพืชผลที่ผ่านได้ดำเนินการจาก อปท.อยู่ในกลุ่มที่ทำการเสนอนดับต้นๆ แต่การพิจารณาของ สถ.ล่าช้าทำให้โครงการตกหล่น แทนที่จะได้รับการพิจารณาพร้อมกับโครงการอื่นของ อปท.ที่ได้เสนอไป 34 โครงการ ทำให้ต้องรอการพิจารณาร่วมกับ ที่ อปท.อื่นๆ ที่เสนอเพิ่มเติมมา 21 โครงการ
“การพิจารณาของ สถ.ส่งผลให้โครงการของ อปท.ตระการพืชผลตกหล่นมาอยู่ร่วมกับโครงการ ที่ อปท.อื่นๆเสนอเพิ่มเติม 21 โครงการ หากการพิจราณาอนุมัติ/อนุญาตล่าช้า มีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารของ อปท.และมีการยกเลิกโครงการขึ้นมาจะส่งผลกระทบตามอย่างมากมาย การทำงานของทีมงาน อปท.และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนจะเสียความรู้สึกอย่างไร โครงการควรดำเนินการให้รวดเร็ว แต่การพิจารณากับล่าช้า ติดขัดปัญหาอุปสรรคมากมาย โครงการที่พิจารณาไม่ควรรอพิจารณาเป็นกลุ่ม อปท.ไหนที่มีความพร้อมก็ควรพิจารณาอนุมัติอนุญาต ส่งเรื่องดำเนินการตามขั้นตอน
จากการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา ทำงานไม่สอดคล้องกับกับปัญหา ที่รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการกำจัดขยะ สำหรับการพิจารณา 21 โครงการที่ สถ.จะทำการพิจารณา ยังต้องหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเพื่อพิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก ในอัตราราคาซื้อไฟฟ้าโครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ควรใช้อัตราเดิมที่ กพช.ประกาศ 6 พ.ค.2565 ไม่ควรทำการประกาศใหม่ทำให้โครงการที่ อปท.เสนอมีความล่าช้า ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในการกำจัดขยะ ที่เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล”