วันศุกร์, 29 มีนาคม 2024 | 3 : 19 pm
วันศุกร์, 29 มีนาคม 2024 | 3:19 pm

วช.หนุนนักวิจัย มทร.พระนคร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือแบบครบวงจร มุ่งผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนสิ่งทอโดยเฉพาะในภาคอีสาน สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภาครัฐมีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยใน “โครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟอก ย้อม พิมพ์ การออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือ สู่เชิงพาณิชย์” ของ “ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้วิสาหกิจชุมชนซึ่งผลิตสิ่งทอพื้นเมืองที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศได้


ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้คนมีความสนใจในวิถีชุมชน วิถีชาวบ้าน ความเป็นธรรมชาตินิยม รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งผ้าทอของอีสานก็เป็นอีกหนึ่งจุดสนใจที่กำลังได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น จึงควรที่จะส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานในรูปแบบต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน มีความเป็นสากลและเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
ผู้วิจัยจึงจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อจัดการองค์ความรู้ที่ผู้วิจัยมีอยู่ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตผ้าฝ้ายให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในการดำเนินงานมีการประสานงานกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานี ในการคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 70 คน


ผศ.ดร.รัตนพล กล่าวว่า จากองค์ความรู้ที่นำไปถ่ายทอด ซึ่งมีตั้งแต่เทคนิคการเตรียมเส้นฝ้าย การย้อมสี เทคนิคการทอ การออกแบบลวดลาย ไปจนถึงการแปรรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่นุ่ม สะท้อนน้ำ และมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสากล ผลการดำเนินกิจกรรมพบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมอบรมสามารถดำเนินการย้อมสีจากธรรมชาติและสีสังเคราะห์ได้ด้วยตนเอง และสามารถนำผ้าฝ้ายทอมือมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เช่น กระเป๋า หมวก ที่สามารถจำหน่ายได้ ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชน ซึ่งแต่เดิมจำหน่ายผ้าอย่างเดียวมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ จำหน่ายควบคู่ไปด้วย


“งานวิจัยยังส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนสามารถย้อมสีเส้นด้ายฝ้ายด้วยสีจากธรรมชาติและเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเทคนิคการย้อมแบบใช้และไม่ใช้อุณหถูมิ ซึ่งเส้นด้ายฝ้ายหรือผ้าที่ย้อมออกมาสีไม่ตก สามารถย้อมซ้ำเฉดเดิมได้ และยังสามารถนำเส้นด้ายฝ้ายที่ผ่านการย้อมสี ไปทอเป็นผืนผ้า และมีการออกแบบลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์จากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งสามารถจำหน่ายตามช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย”
สำหรับการต่อยอดงานวิจัยในอนาคตจะเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ฟอก ย้อม พิมพ์ ตลอดจนการทอผ้าด้วยเส้นด้ายฝ้ายทั่วประเทศที่สนใจเทคโนโลยีนี้ โดยทางทีมผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือองค์ความรู้เรื่อง “การฟอก ย้อม พิมพ์ ออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ” เพื่อใช้ในการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นต้น ซึ่งในคู่มือดังกล่าวกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติตามได้
ผู้วิจัยกล่าวอีกว่า หากโครงการงานวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ฝ้าย จะส่งผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกฝ้าย และผลิตเส้นด้ายฝ้าย สามารถจำหน่ายเส้นใยฝ้ายเพื่อการผลิตเส้นด้ายได้ในปริมาณที่มากขึ้น ขณะเดียวกันวิสาหกิจชุมชนที่ฟอก ย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จ ก็สามารถย้อมสีเส้นด้ายฝ้าย และผืนผ้าที่ได้คุณภาพ สีไม่ตกและไม่ซีด ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และเป็นไปตามเทรนด์สี ส่วนวิสาหกิจชุมชนทอผ้าฝ้าย สามารถนำเส้นด้ายที่ผ่านการย้อมสีตามเทรนด์สีมาสร้างผืนผ้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดโดยมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ และสุดท้ายวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย สามารถนำผ้าที่เกิดจากการทอและได้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือเป็นไปตามเทรนด์สี มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตนเองได้
จึงเรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าและเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการผลิตภัณฑ์ฝ้ายซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนได้อย่างครบวงจร