วันเสาร์, 21 ธันวาคม 2024 | 10 : 58 pm
วันเสาร์, 21 ธันวาคม 2024 | 10:58 pm

โครงการ 1อำเภอ 1โรงเรียนคุณภาพ ระดับมัธยมศึกษา “การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียน การประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการคิดสู่การพัฒนานวัตกรรม”  สร้างต้นแบบในพื้นที่จังหวัดลพบุรี อุทัยธานี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา

โครงการ 1อำเภอ 1โรงเรียนคุณภาพ ระดับมัธยมศึกษา “การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียน การประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการคิดสู่การพัฒนานวัตกรรม”  สร้างต้นแบบในพื้นที่จังหวัดลพบุรี อุทัยธานี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 ที่ ห้องประชุมพระนารายณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสสวนสุนันทา จัดการสัมมนาทางวิชาการ “การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ระดับห้องเรียน การประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการคิดสู่การพัฒนานวัตกรรม” เผยแพร่สู่สาธารณชน ระดับมัธยมศึกษา สร้างต้นแบบในพื้นที่จังหวัดลพบุรี อุทัยธานี อ่างทอง และพระนครศรีศรีธยา โดย ดร.ณัฐชยา เม็นไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำรูปแบบการจัดการเรียนรู้Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps มาเป็นตัวหลักในการส่งเสริมพัฒนาครู พัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับ Soft Power ซึ่งมีความสำคัญกับท้องถิ่น โดยตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำ Active Learning ผ่าน GPAS 5 Steps มาสู่ห้องเรียนอย่างจริงจังตามบริบทของห้องเรียน ซึ่งจะส่งเสริมให้เด็กมีกระบวนการคิด ออกแบบให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถกำหนดอนาคตหรืออาชีพของตนเอง ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้ประเทศของเรามีนวัตกรรมที่เกิดจากตัวเด็กหรือเกิดจากรากฐานของท้องถิ่น และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต “จากที่ได้เห็นบูธของเด็ก ๆ สิ่งที่มองเห็น คือ เด็ก ๆ ได้ใช้กระบวนการคิด ขั้นตอนในการค้นหานวัตกรรมของตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชและสนับสนุน เช่น กรณีของจังหวัดลพบุรีเด็กได้นำสัญลักษณ์ของจังหวัดมาออกแบบเป็นเสื้อยืด ซึ่งสิ่งที่ชอบมากที่สุดคือการที่เด็กได้สร้างผลิตภัณฑ์จากความคิดของตัวเองและเพื่อน ๆ มาทำให้เกิดมูลค่าได้จริง ส่วนกรณีความเท่าทันเทคโนโลยีเด็ก ๆ ได้นำมาใช้โดยครูแนะนำให้เด็กสำรวจ บูรณาการใน 8 กลุ่มสาระโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นวิชาหลักในการสื่อสาร ทำให้เด็กได้ใช้ตลาดออนไลน์มาเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์ และเด็กยังได้เรียนรู้ว่าการจะสร้างมูลค่าอะไรสักอย่างต้องมีตลาดรองรับ ต้องมีผลกำไร ไม่ได้มีไว้เพื่อโชว์เท่านั้น ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรที่จะไปสร้างนวัตกรรมเพื่อไปแข่งขันในเวทีโลกต่อไป”ดร.ณัฐชยากล่าว

รศ.ดร.นันทิยา น้อยจันทร์ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ GPAS 5 Steps  สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ ทำให้คุณครูมีทิศทางที่ชัดเจนในการจัดกิจกรรมแบบ Active Learning ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กจะต้องได้รับการเรียนรู้จากการเรียนการสอนในปัจจุบัน เพราะจะเน้นเรื่องของกระบวนการมากกว่าเรื่องของเนื้อหาด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งความรู้ต่าง ๆ ก็มีมากมาย เพราะฉะนั้นกระบวนการในการแสวงหาความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนโดย Active Learning นักเรียนจะได้ฝึกการค้นคว้าด้วยตนเอง รู้จักคิด รู้จักวางแผนทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนเรื่องของการทำสื่อ การนำเสนอต่อสาธารณชนและประเมินด้วยตัวเอง “ที่ดำเนินการมากระบวนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ มีครูอาจารย์ที่มีศักยภาพ มีทีมวิทยากรที่เป็นมืออาชีพ แต่ความร่วมมือระดับประเทศจะเกิดผลไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากสพฐ.ในการเผยแพร่องค์ความรู้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้วย Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps  จนทำให้เด็กมีการพัฒนา ครูเป็นนวัตกร และนักเรียนก็เป็นนวัตกร ซึ่งเห็นได้จากผลงานของเด็กมากมายที่นำมาจัดแสดง  และที่น่าภูมิใจอย่างมากโดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา คือ เราได้เห็นกระบวนการส่งต่อจนถึงขั้นสามารถหารายได้ได้แล้ว ถ้ายิ่งมีการต่อยอดนักเรียนก็จะสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมหรืออาจจะใช้ทำมาหากินเป็นอาชีพหลักได้เลย”รศ.ดร.นันทิยากล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า วันนี้ต้องชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะ สพฐ. และ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ที่สามารถพลิกโฉมการศึกษาได้ โดยสามารถตอบโจทย์หลักสูตรมและตอบโจทย์เป้าหมายการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม เพราะหลักสูตร คือ แผนการจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน มาตรฐานการเรียนรู้ คือ ความสามารถในการแสดงออกของผู้เรียนในทุกมิติ ทั้งทางการคิด การตัดสินใจ และการกระทำ ซึ่งวันนี้เราได้เห็นครอบคลุมทุกมิติ เป็นการตอบโจทย์หลักสูตรที่ใช้มาหลาย 10 ปีแต่เพิ่งประสบความสำเร็จในยุคนี้ โดยเห็นได้จาก ผลผลิตของนักเรียนในแต่ละบูธที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นความเป็นพหุปัญญาว่า บริบทที่แตกต่างกันแต่สามารถใช้กระบวนการเดียวกันในการสร้างความรู้ สร้างผลผลิตได้อย่างสอดคล้องกับหลักสูตรและการเป็นมาตรฐานสากล ทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงนวัตกรรม ไม่ใช่ทำนวัตกรรมมาโชว์ แต่นักเรียนทุกคนเข้าถึงนวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง