วันศุกร์, 4 ตุลาคม 2024 | 2 : 38 am
วันศุกร์, 4 ตุลาคม 2024 | 2:38 am

วช. เชิดชู ผู้พัฒนา ‘อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน’ วัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 67

วันที่ 28 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน NRCT Talk รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 4 ประเภท : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ในผลงาน “อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว” ซึ่งมี นายศรัณย์ ธรรมาศิริกุล นายภวนันท์ ฤทธาเวช และคณะ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยลดภาระการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และช่วยลดการสูญเสียของผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช. 1

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. จัดกิจกรรม “NRCT Talk : รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 4” เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยในปีนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
ซึ่ง อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ
: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2567 สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

นายศรัณย์ ธรรมาศิริกุล ทีมคณะวิจัย กล่าวว่า “อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว” เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีการใช้มาก่อน โดยอุปกรณ์นี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากอุปกรณ์อุดรูรั่วที่ผนังหัวใจห้องบนที่ได้วิจัยขึ้นมา โดยงานวิจัยนี้ได้มีความร่วมมือกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันทำการออกแบบ พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน ด้วยการส่งผ่านสายสวนเพื่อติดตั้งระหว่างผนังหัวใจห้องบนซ้ายและขวา เพื่อลดความดันในห้องหัวใจของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติ และถ่างขยายผนังกั้นหัวใจ โดยไม่ทำให้หัวใจสร้างเนื้อเยื่อกลับมาปิดได้อีก ซึ่งเป็นการรักษาที่ตรงจุด และไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ เน้นการออกแบบอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบน โดยทำการลดขนาดความหนาของจานด้านซ้าย และด้านขวาให้ขนานกับผนังหัวใจมากที่สุด เพื่อป้องกันการรบกวนการไหลของเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด การออกแบบขนาดของรูบนอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมสำหรับการลดความดันในหัวใจของผู้ป่วย เป็นต้น โดยการออกแบบทั้งหมดได้ออกแบบให้อุปกรณ์มีส่วนโค้งตามข้อต่อต่าง ๆ ของอุปกรณ์ เพื่อง่ายต่อการติดตั้งและเหมาะสมกับสรีระของคนเอเชีย

นายภวนันท์ ฤทธาเวช ทีมคณะวิจัย กล่าวเสริมว่า หากในอนาคตประเทศไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นเองได้ภายในประเทศ จะนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน และช่วยลดภาระการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และช่วยให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดีซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การแข่งขันของเทคโนโลยีวัสดุทางด้านการแพทย์ในระดับสากล ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ กิจกรรม “รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 4 ประเภท : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย” ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป