วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2024 | 4 : 20 am
วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2024 | 4:20 am

สจล. ตัวแทนประเทศไทย และ INNOPA สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สุดเจ๋ง คว้ารางวัลสูงสุด Grand Prize นักประดิษฐ์นานาชาติ จากงาน IPITEx 2024

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประเทศไทย และ Indonesian Invention and Innovation Promotion Association (INNOPA) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย คว้ารางวัลสุดยอด Grand Prize สุดปลื้มขึ้นรับรางวัลจากงาน IPITEx 2024 งานนี้นักวิจัยจากนานาชาติที่เข้าร่วมงานต่างชื่นชมประเทศไทย จัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่ สร้างโอกาสทางการตลาด สู่การเรียนรู้นวัตกรรม สร้างเครือข่ายนักประดิษฐ์นานาชาติ

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ไบเทคบางนา- สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition 2024 (IPITEx 2024) ภายในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024)” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะผู้บริหาร วช. ร่วมยินดี โดยมีคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาชาติเข้าร่วมลุ้นผลรางวัลอย่างเนืองแน่น ณ เวทีกลาง Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุน การนำผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของนักประดิษฐ์และนักวิจัยนานาชาติ เข้าร่วมจัดแสดงผลงานและร่วมการประกวดมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition 2024 (IPITEx 2024) อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาจัดแสดงและประกวดผลงานภายในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024)” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกในการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาผลงานประดิษฐ์คิดค้น และเป็นแรงจูงใจในการประดิษฐ์คิดค้นแก่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ตลอดจนเปิดโอกาส ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากนักประดิษฐ์นานาชาติอีกด้วย
ในปีนี้มีตัวแทนหน่วยงานได้รับรางวัล Grand Prize จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “Mobile High-capacity Oxygen Generator for positive pressure ventilator” จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประเทศไทย และ ผลงานเรื่อง “Increase Oil Production with Electric Desalter’s Reliability Improvement using U-Channel Electrode Clamp in DS7 West Qurna 1 Field (Iraq)” จาก Indonesian Invention and Innovation Promotion Association (INNOPA) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย


รางวัล The Outstanding International Invention & Innovation Award จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “Morphing eyewear VIAMOF” จาก Korea Invention Promotion Association (KIPA) สาธารณรัฐเกาหลี ผลงานเรื่อง “GreenfilV” Nanocellulose additives and fillers” จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศไทย ผลงานเรื่อง “A wearable gadget for correcting the knee angle of rickets patients” The First Institute of Researchers and Inventors in I.R.IRAN (FIRI) จาก สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และผลงานเรื่อง “Air Purification Tower with Plasma Technique” จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
รางวัล ASEAN Excellence Invention and Innovation Award จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “GET: A Smart Wastewater System for Industry” จาก Malaysian Invention & Design Society (MINDS) จาก มาเลเซีย


รางวัล INTER YOUNG จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “The Smart Mechanized Farm 2.0” จาก Malaysian Invention & Design Society (MINDS) จาก มาเลเซีย และรางวัลอื่นๆอาทิ รางวัล NRCT Special Award จำนวน 25 รางวัล รางวัล Medal Prize จำนวน 3 รางวัล รวมถึง รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จำนวน 199 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) จำนวน 243 รางวัล รางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) จำนวน 165 รางวัล
ในงานวันนักประดิษฐ์ปีนี้มีการจัดแสดงผลงานจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า 25 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรจากนานาประเทศจำนวน 30 องค์กร และ 38 องค์กร จากประเทศไทย ที่ให้ความร่วมมือเพื่อเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การจัดงานให้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี และคาดหวังที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศใหม่ ๆ เพื่อจะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้ยิ่งใหญ่ขึ้นคาดว่าในงานวันนักประดิษฐ์ปีต่อๆไป จะมีการขยายขอบข่ายในการนำเสนอผลงานให้มีความหลากหลายขึ้นทั้งในด้านปริมาณและผลงานที่มีการพัฒนายิ่งขึ้นในหลากหลายมิติขึ้น