วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 1 : 32 pm
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 1:32 pm

7 หน่วยงานรัฐ จับมือขับเคลื่อน “Crops Drought” แพลตฟอร์มประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลงด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

7 หน่วยงานรัฐ จับมือขับเคลื่อน “Crops Drought” แพลตฟอร์มประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลงด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศวันที่ 9 มีนาคม 2566 สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สํานักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมชลประทาน ภายใต้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมอุตุนิยมวิทยา ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ภายใต้กระทรวงมหาดไทย และสํานักงานทรัพยากรน้ําแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศในด้านการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตร “น้ำ” เป็นสิ่งสำคัญ การจัดการน้ำในระดับพื้นที่โดยเฉพาะการจัดการน้ำแล้ง ในความร่วมมือครั้งนี้ กระทรวง อว. โดย วช. ได้นำงานวิจัย นวัตกรรมและข้อมูลทางวิชาการไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาบุคลากร และ GISTDA ดูแลการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ ส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยี ภาพถ่ายดาวเทียม เกิดการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลงด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าถึงการใช้งานเพื่อประโยชน์ในภาคการเกษตรได้แบบยั่งยืน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการ วช. กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนผลงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมที่พร้อมใช้ สู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ และผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในทุกระดับซึ่งภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติ โดยในแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกันและก่อให้เกิดความเสียหายทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดังนั้น วช. จึงได้สนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม แก่ GISTDA ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แพลตฟอร์มสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการ “การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” เป็นการนำข้อมูลดัชนีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง และดัชนีประเมินความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ซึ่งเกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาจัดทำแบบจำลอง เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงแบบอัตโนมัติ ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย โดยนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัดที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กำแพงเพชร อุทัยธานี นครราชสีมา สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และสกลนคร จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา วช. GISTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า แพลตฟอร์มสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประสบภัยแล้ง มีผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการ ซึ่งสามารถขยายไปสู่การใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการภัยพิบัติในมิติอื่น ๆ ได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน และร่วมกันพัฒนาสู่การเป็นแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการภัยพิบัติแบบองค์รวมต่อไป

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลงด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในภาคการเกษตร ภัยพิบัติ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์จากดาวเทียม ในการเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง อีกทั้งหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ และหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านนโยบาย ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่อยู่ภายใต้การประเมินความเสียหายด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

สำหรับผู้ร่วมลงนามครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 กระทรวง และ 1 หน่วยงาน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นายขจร เราประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมีผู้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานจาก 6 หน่วยงาน ได้แก่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อํานวยการ วช. ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการ GISTDA นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางสาวสุรางค์ศรี วาเพชร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร) และนายธเนศน์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา (ผู้แทนอธิบดีกรมกรมชลประทาน)

ความร่วมมือของ 7 หน่วยงาน 4 กระทรวงในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งของพืชเกษตรรายแปลงจากแบบจําลอง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ Crops Drought ภายใต้โครงการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อขยายการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ รวมถึงบูรณาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมภูมิสารสนเทศในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านภัยพิบัติ และด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าถึงการใช้งานเพื่อประโยชน์ในภาคการเกษตรได้แบบยั่งยืนและใช้เป็นข้อมูลในการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่อยู่ภายใต้ การประเมินความเสียหายด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อความถูกต้อง แม่นยํา และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา การประกาศเรื่องภัยแล้งอาศัยข้อมูลปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีการรายงานของฝน ทิ้งช่วงต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืช ประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งในระดับจังหวัด โดยให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากภัยแล้งขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อขอรับเงินค่าชดเชย โดยจะต้องมีการตรวจสอบยืนยันความ เสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนถึงจะสามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยได้ ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรด้านบุคลากรและงบประมาณในการสํารวจตรวจสอบจำนวนมาก ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแบบจําลองการวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลงแบบอัตโนมัติ และจัดทำเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งโดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ รวมทั้ง การขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคมให้กับหน่วยงานระดับนโยบายและประชาชนต่อไป