วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 3 : 34 am
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 3:34 am

วช. หนุน สจล. ใช้ปัญญาประดิษฐ์รักษามะเร็งปากมดลูก

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินโครงการกล้องสเตริโอกราฟฟิกเอนโดสโคปแบบสามมิติพร้อมระบบจำแนกภาพอัตโนมัติสำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น เพื่อสร้างภาพสามมิติและนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการแพทย์ เพราะในสตรีไทย สาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดคือมะเร็งปากมดลูก ถ้าไม่มีมาตรการหรือยุทธวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาป้องกัน คาดว่าในปี 2568 จะมีผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นเป็นปีละประมาณ 13,082 คน เสียชีวิต 7,871 ราย

ดร.วิบูลย์ กล่าวต่อว่า จริงๆ มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้และสามารถตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง โดยการทำแพปสเมียร์ ที่ปัจจุบันมีการสร้างภาพสามมิติและใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการแพทย์ เพราะทำให้เกิดความสะดวกสบายรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น เช่น การสร้างภาพสามมิติด้วยกล้องเอนโดสโคปเพื่อช่วยในการผ่าตัดแบบสามมิติ ทำให้ผู้ผ่าตัดสามารถแยกชิ้นส่วนที่อยู่ห่างกันได้ดีขึ้นจากความลึกที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างภาพสามมิติ นอกจากนี้ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการเก็บข้อมูลของผู้ป่วย ใช้คัดกรองมะเร็งปากมดลูกในเบื้องต้น มาช่วยสร้างระบบอัตโนมัติที่จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้

ดร.วิบูลย์ กล่าวอีกว่า คณะวิจัยได้ออกแบบกล้องและระบบ ประกอบด้วยส่วนของกล้องที่เล็ก และด้วยระบบสองกล้องในหนึ่งเดียวทำให้เก็บภาพได้รอบด้านและครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในระบบสามมิติ รวมทั้งในส่วนของระบบที่จะช่วยประมวลผลว่าภาพที่ได้มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคหรือไม่ ร้ายแรงในระดับใด เพื่อช่วยแพทย์ประกอบการตัดสินใจ การตรวจราขยายส่องสว่างหลังจากทาหรือชโลมด้วยน้ำยาเฉพาะ เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือเพื่อตรวจยืนยันความปกติของเนื้อเยื่อบุผิว โดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยค้นหาเซลล์ที่ผิดปกติ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีเวลาตรวจสอบผลการคัดกรองมากขึ้น ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองสูงขึ้น ดังนั้นระบบการคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยปัญญาประดิษฐ์จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันได้