วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2024 | 9 : 11 am
วันพฤหัสบดี, 5 ธันวาคม 2024 | 9:11 am

“รางวัลผลงานวิจัย ปี 65” ม.นเรศวร วิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ได้มาตรฐานส่งออก

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงาน “ศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก” เข้ารับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ในงานวันนักประดิษฐ์ 2564-2565 จาก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เผยสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้นาน 33 วัน จากเดิม 15 วัน โดยการจัดการแบบครบวงจรจากต้นทาง สร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร และเพิ่มโอกาสการเติบโตในตลาดโลก เตรียมส่งออกจริง ขนส่งทางเรือเดือนมีนาคม 2565

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด – 19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีผลผลิตเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ และไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ผลไม้หลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน ส่งออกไปต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 60 อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และ มาเลเซีย รวมทั้ง รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การวิจัยและพัฒนามะม่วงให้ได้มาตรฐานส่งออก มีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สามารถขนส่งทางเรือได้ เป็นการบรรเทาปัญหาอย่างสอดรับกับสถานการณ์ และยังช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่การทำเกษตรกรรม และเพิ่มโอกาสการส่งออกผลไม้ของไทยไปต่างประเทศ

ทีมวิจัย ได้ศึกษาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการฉายรังสีของมะม่วง จนค้นพบว่า การคัดเลือกความสมบูรณ์ของผลมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยว ในระยะการสุกแก่ที่ 80% โดยใช้เทคนิค NIR (Near Infrared Spectroscopy) อย่างแม่นยำ ก่อนนำมาฉายรังสีชนิดก่อไอออน จะช่วยให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์ผล และความแน่นของเนื้อที่ทนทานต่อการบอบช้ำ จึงเหมาะสมต่อการส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงการใช้สารละลายอะซอกซีสโตรบิน ร่วมกับการจุ่มน้ำร้อน เพื่อควบคุมการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยว และการจุ่มน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิภายในผลผลิต ก่อนการคัดบรรจุและนำไปฉายรังสีชนิดก่อไอออน ทำให้ทราบว่า การฉายรังสีแกมมาและรังสีเอกซ์ที่ปริมาณ 400 Gy ที่ระยะสุกแก่ 80% มีความเหมาะสมต่อการฉายรังสีเพื่อการส่งออกมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตมะม่วงที่ได้มาตรฐานจะต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทาง

จากนั้นจึงได้พัฒนาเทคนิคการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ (Controlled Atmosphere Storage) ควบคุมปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา สามารถเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตในระหว่างการขนส่งได้ 15 วัน และมีอายุการเก็บรักษาเป็นเวลา 6 วัน ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ MAP (Modified atmosphere packaging) โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 15 วัน การขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผลสดด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ สามารถขนส่งทางเรือได้ที่มีต้นทุนต่ำได้ ผลผลิตจึงมีคุณภาพดีเมื่อไปถึงประเทศปลายทาง มีขั้นตอนที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพปัญหาแรงงานที่หายาก และมีราคาแพงในประเทศปลายทาง

ล่าสุด ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะถูกขนส่งทางเรือ เป็นครั้งแรกจากประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลมะม่วง ที่คาดว่าราคาผลผลิตอาจตกต่ำ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในช่วงฤดูกาลผลิตระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ได้เป็นอย่างดี

จากผลงานดังกล่าว จึงนำมาสู่การได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ประจำปี 2565 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จาก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ