วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2024 | 1 : 59 pm
วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน 2024 | 1:59 pm

สุดยอดนวัตกรรม! เครื่องวัดระดับน้ำตาลชนิดพกพาแบบไม่ต้องเจาะเลือด จาก ม.รังสิต คว้ารางวัลการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ระดับดีมาก ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 65

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 ระดับปริญญาตรี ระดับดีมาก และรางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรม ระดับปริญญาตรี ระดับดีเด่น ประจำปี 2565

ให้กับผลงานนวัตกรรม “เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพา” ของนางสาวชนิดาภา ต้องใจหิรัญ และนางสาวพัทธ์ธีรา ลาภสมบูรณ์ยิ่ง แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต จากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 : Thailand Research Expo 2022” เมื่อวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้จัดให้มีการประกวดผลงานนวัตกรรมและการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษาโดยเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านนวัตกรรม กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา อันจะเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพในการเติบโตของบุคลากรทางการวิจัยของประเทศต่อไป

นางสาวชนิดาภา ต้องใจหิรัญ เจ้าของผลงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมาก และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลจะมีแผลที่หายช้า ดังนั้น จึงได้คิดค้นเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพาขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานลดการบาดเจ็บจากการเจาะเลือด และยังพกพาได้อย่างสะดวกเนื่องจากมีขนาดเล็ก โดยเครื่องดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ต้องการวัดระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 70-350 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สามารถวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เพียงวางนิ้วลงบนเซ็นเซอร์ที่อยู่บนตัวเครื่องสามารถวัดและแสดงผลได้ภายใน 20 วินาที

“การคิดค้นเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพา มีรองศาสตราจารย์ปรียา อนุพงษ์องอาจ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ธวัช แก้วกัณฑ์ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสว่างจิต สุรอมรกูล แห่งคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และบริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด ในการสร้างผลงานนี้ขึ้นมา ปัจจุบันผลงานดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิก ซึ่งหากผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจแล้วจะดำเนินการขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้สามารถผลิตและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป” นางสาวชนิดาภา ต้องใจหิรัญ เจ้าของผลงาน กล่าวทิ้งท้าย