เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ กลุ่มผู้นำแรงงาน นำโดย นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม และคณะ ในโอกาสเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อมอบช่อดอกไม้แสดงความขอบคุณรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้ดำเนินการช่วยผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.65) เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มผู้นำแรงงานได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายสุชาติ กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในครั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางแผนการปฏิรูปประกันสังคม เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบำเหน็จ บำนาญชราภาพ เป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ และนำเงินกรณีชราภาพที่ตนเองสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วนได้ ตลอดจนรองรับสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับนี้ ได้แก่ 1) การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญ จ่ายล่วงหน้าได้ 2) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก) ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้) 3) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน 4) ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย 5) แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งเพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง และ 6) การแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในนามกลุ่มผู้นำแรงงานต้องขอบคุณรัฐบาลที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เล็งเห็นความสำคัญและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในช่วงโควิด-19 เป็นอย่างดี เนื่องจากร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับนี้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ทำให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์โดยตรงอย่างแท้จริง