วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 9 : 01 am
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 9:01 am

สพฐ.จัด Hackathon การศึกษาร่วมพลังเอกชนแก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย

ภายหลังจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการแถลงผลงานในโอกาสรับตำแหน่งครบ 1 ปี “Education We can TRUST” เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงปัญหาการศึกษาอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวกาณ์เรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาทุกประเทศทั่วโลก ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ คพฐ.ได้จัดการแข่งขัน MOE Mini Hackathon 2022 ระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน 2565 เพื่อการระดมสมองของบุคลากรภายในกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันคิดค้น และนำเสนอนวัตกรรมทางการเรียนการสอน เพื่อแก้ไขปัญหา Learning Loss

ทั้งนี้ กิจกรรม MOE Mini Hackathon เป็นการสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน เพื่อให้ได้แนวทาง หรือคำตอบในการแก้ไขปัญหาทางการศึกษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รู้จัก และเข้าใจปัญหา เรียนรู้เทคนิคและกระบวนในการระดมความคิดเห็น และการคิดอย่างสร้างสรรค์ การฝึกฝน การนำเสนอผลงาน และสามารถนำแนวคิด และวิธีการที่ค้นพบร่วมกันไปขยายผลสู่ความสำเร็จ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี ได้แก่ นายเรืองโรจน์ พูนผล หรือคุณกระทิง ประธาน Kasikorn Business-Technology Group บริษัทเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย เจ้าของฉายา “นักปั้น” จนถึง “Godfather of Thai Tech Startup” ที่ได้ให้คำปรึกษา แนะนำกระบวนการ Hackathon และเป็นวิทยากร รวมถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้รับฟังแนวคิด หรือไอเดียการแก้ปัญหาทางการศึกษาในเชิงสร้างสรรค์ จากทีม showcase 12 ทีม เช่น ทีมดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์, เอ็ดไวซอรี่, mappa, เพจ Toolmorrow, Starfish Education ทั้งนี้ตลอดการแข่งขันมี Mentor คอยดูแลเป็นที่ปรึกษา

ผลของการจัดกิจกรรม สพฐ.ได้รับแนวคิดเบื้องต้นจำนวน 9 แนวคิดจาก 9 ทีมที่ร่วมแข่งขัน โดย สพฐ.จะนำแนวคิดทั้งหมดมาพิจารณาโดยละเอียด และพัฒนาต่อยอดเพื่อคัดเลือกแนวคิดที่ดี และเหมาะสมมาจัดทำเนื้อหา แนวทาง รวมถึงวิธีการ เพื่อส่งต่อให้ครูนำไปปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาภาวการณ์เรียนรู้ที่ถดถอย

ล่าสุดในพิธีปิดการแข่งขัน MOE Mini Hackathon 2022 ได้รับเกียรติจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาเป็นประธานพิธีปิด พร้อมมอบรางวัลแก่ทีมผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทรางวัล โดยกล่าวในการปิดประชุมว่า รัฐบาลมีความห่วงใยนักเรียนที่เกิดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ หรือ Learning Loss จากการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงมีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. จับมือกับเครือข่ายครูรุ่นใหม่ และภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา รวมถึงสตาร์ทอัพด้านการศึกษา (EdTech) ร่วมกันบูรณาการความคิด เพื่อค้นหาไอเดีย และแนวทางแก้ไขใหม่ๆ ในรูปแบบของการเปิดกว้างทางความคิด

“ถือเป็นเรื่องที่ดีในการระดมภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการศึกษา รวมถึงคุณหมอ กุมารแพทย์ และนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น มาเป็นทีมวิทยากรและ MENTORS เพื่อให้ความรู้และเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาแก่ผู้เข้าแข่งขันทุกคน นับเป็นการรวมตัวกันของภาครัฐและภาคเอกชนที่คร่ำหวอดในวงการศึกษามาร่วมกันคิด และนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา Learning loss ทุกแนวคิด ทุกนวัตกรรม ดิฉันถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีความหมายต่อการพัฒนาการศึกษาไทยซึ่งทาง สพฐ.จะนำไอเดียต่อยอด สร้างสรรค์ และขยายผลสู่ความสำเร็จต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว