วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 6 : 05 am
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 6:05 am

วช. ปลื้ม ผลสำเร็จการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำลดความขัดแย้งการใช้น้ำ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ทั้งภาคราชการและภาคประชาชน “องค์กรผู้ใช้น้ำ” จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะยกระดับ
การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรม ภายใต้แผนงานการบริหารจัดการน้ำปี 2

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงได้สนับสนุนการดำเนินงาน “โครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ” เพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการว่า โครงการฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น ดำเนินงานโครงการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ เป็นการนำงานวิจัยในท้องถิ่นมาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบ
มีส่วนร่วม พื้นที่ดำเนินงานคือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง กรมชลประทาน จังหวัดกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 300,000 ไร่ มีกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมดประมาณ 30 กลุ่ม ในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ ได้เข้าไปพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทาน 10 กลุ่ม แต่ผลสำเร็จจากการพัฒนาทำให้มีการขยายผลไปยังกลุ่มผู้ใช้น้ำเพิ่มอีกเป็น 20 กลุ่ม โดยเข้าไปอบรมให้ความรู้ และจัดประชุมร่วมระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ

และปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจและความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ในขณะที่น้ำ
มีปริมาณจำกัดจะมีการจัดสรรปันส่วนกันอย่างไร ใครควรจะได้ก่อนหรือใครควรจะได้หลัง พร้อมกันนี้ได้มีการ

นำระบบเซ็นเซอร์เพื่อวัดความชื้นของดินไปติดตั้งที่แปลงเกษตรกร เพื่อประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่แต่ละแปลง ณ ช่วงเวลาต่างๆ เป้าหมายการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับแรก กลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถช่วยจัดสรรน้ำให้แก่สมาชิกได้ดีขึ้น สามารถจัดสรรได้ตามความจำเป็นและความเร่งด่วนของเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งช่วยลดความขัดแย้งในเรื่องการใช้น้ำลงได้ ระดับที่สอง กลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถนำน้ำที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างจำกัดไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ (นอกเหนือจากการปลูกข้าว) โดยเกษตรกรจะรวมกลุ่มกันในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมผลิตและร่วมกันขายสินค้าเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองราคา เช่น รวมกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่าย ปลูกและขายพืชสมุนไพร (ปอเทือง ตะไคร้ ฟ้าทะลายโจร) เมล็ดพันธุ์ข้าว ผลิตสบู่ แปรรูปกล้วย เป็นต้น สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่จะมีราคาสูงกว่าข้าว ระดับที่สาม เป็นการยกระดับการผลิตจากระดับที่สอง
คือแทนที่จะขายสินค้าเป็นวัตถุดิบก็จะสนับสนุนให้ผลิตเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม นำความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต เช่น อาจจะทำเป็นผง หรือผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งจะต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้มาเป็นพี่เลี้ยง

สำหรับผลการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้ง 20 กลุ่ม สามารถพัฒนาศักยภาพผ่านการประเมินใน
ระดับแรกได้ จากเดิมกลุ่มผู้ใช้น้ำมีบทบาทเพียงแค่รอการเรียกประชุมและรอรับฟังผลการจัดสรรน้ำ
จากกรมชลประทานเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเขาสามารถเรียกประชุมและจัดสรรน้ำให้กับสมาชิกในกลุ่มได้เอง
โดยนำตัวเลขความต้องการน้ำไปเสนอให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม สำหรับระดับสอง มีเพียง 5 กลุ่ม ที่สามารถดำเนินการได้ สามารถ

วางแผนใช้น้ำที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างจำกัดไปวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่น เช่น การปลูกพืชสมุนไพร การปลูกพืชผัก เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร
ซึ่งผลจากการดำเนินงานสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรได้มาก จากตัวเลขที่โครงการฯ ได้รวบรวมในเบื้องต้น ประเมินว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าการปลูกข้าวหลายเท่าตัว ดังตัวอย่างกำไรจากการปลูกปอเทืองทดแทนการปลูกข้าวช่วงทำนาปรังในตำบลหนองหลวง จำนวน 149 ไร่ มูลค่ารวม 4,230,555 บาท หรือคิดเป็น 28,395 บาท/ไร่ การปลูกตะไคร้ในตำบลสระแก้ว 28,452 บาท/ไร่ และการปลูกฟ้าทะลายโจรในตำบลหนองไม้กอง
13,830 บาท/ไร่ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าการปลูกข้าว 3.18 เท่า และ 1.5 เท่า ในพืช 2 ชนิดตามลำดับ


สำหรับเป้าหมายในระดับที่สามจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า ดังนั้น กลุ่มผู้ใช้น้ำที่โครงการฯ ลงไปพัฒนาร่วมกับชาวบ้านนอกจากจะสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง สามารถดูแลและพัฒนาตนเองได้ สามารถจัดสรรปันส่วนน้ำในกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในการใช้น้ำ เมื่อมีการพัฒนาต่อไปเขาจะสามารถร่วมประชุมวางแผนกับส่วนราชการได้ทั้งในเรื่องของการจัดสรรน้ำ การวางแผนพัฒนาการเกษตร ผลสำเร็จจากโครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำที่กำแพงเพชร ปัจจุบันได้มีการขยายผลงานวิจัยการออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป