วันพุธ, 15 มกราคม 2025 | 3 : 28 pm
วันพุธ, 15 มกราคม 2025 | 3:28 pm

120 ปี สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ชวนชมการแสดง “1907: Rama V European Operatic Journey” โอเปร่า 7 เรื่อง รังสรรค์จากพระราชหัตถเลขา ร.5 มรดกความทรงจำอันงดงาม

120 ปี สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

ชวนชมการแสดง “1907: Rama V European Operatic Journey” 

โอเปร่า 7 เรื่อง รังสรรค์จากพระราชหัตถเลขา ร.5 

มรดกความทรงจำอันงดงาม 

เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 120 ปีแห่งการก่อตั้งสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2567 นี้ สยามสมาคมฯ เตรียมจัดกิจกรรมผ่านคติพจน์พิเศษ “Inspiring the Generations” ตอกย้ำความมุ่งมั่นของสยามสมาคมฯ ที่พร้อมต้อนรับผู้แสวงหาความรู้ทุกเพศทุกวัย สู่สถานที่อันเป็นศูนย์กลางการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้มาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ในกิจกรรมการแสดงดนตรีพิเศษในชื่อชุด “1907: Rama V European Operatic Journey” ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 – 1 ธันวาคม 2567 ณ หอประชุมสยามสมาคมฯ ถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21)

โดยการแสดงชุดนี้ มาจากความสนพระราชหฤทัยต่อมหรสพตะวันตกประเภทโอเปร่า ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ปรากฏรายละเอียดอยู่ในหลายบทหลายตอนของพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานแก่พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เมื่อปีพ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) หรือที่ต่อมาได้รับการรวมเล่มและตีพิมพ์ในชื่อ “พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน”

คุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ นายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การแสดงชุดพิเศษ “1907: Rama V European Operatic Journey” เป็นการพาท่านผู้ชมย้อนเวลากลับไปยังสมัยแรกตั้งสยามสมาคมฯ เมื่อสยามประเทศเริ่มให้ความสนใจต่อวัฒนธรรมของนานาประเทศในเชิงลึก จนนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ที่ยังทรงอิทธิพลมาจนปัจจุบัน โดยโอเปร่าที่พระพุทธเจ้าหลวงได้ทอดพระเนตรและทรงมีพระราชนิพนธ์ถึง บ้างปรากฏเพียงรายละเอียดการแสดงเฉพาะบางส่วนที่ต้องพระราชหฤทัย บ้างปรากฏเพียงเรื่องย่อเท่าที่ทรงจดจำได้ 

“การสร้างสรรค์เนื้อหาการแสดงนั้น คณะทำงานได้ศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นเพื่อระบุชื่อเรื่องและข้อมูลเกี่ยวกับการแสดง โดยสืบค้นผ่านฐานข้อมูลจดหมายเหตุในประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ จนพบหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่กำหนดการแสดงมหรสพในวันและสถานที่ซึ่งตรงกับข้อมูลในพระราชหัตถเลขา นอกจากจะช่วยระบุชื่อเรื่องได้แล้ว ยังเผยให้เห็นข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรายนามนักแสดง คำวิจารณ์การแสดงของสื่อมวลชน และภาพการแสดง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ทั้งสิ้น” คุณพิไลพรรณ เผย

ชุดการแสดงประกอบด้วยฉากที่น่าสนใจของโอเปร่าทั้ง 7 เรื่อง ได้แก่ การขับร้อง การแสดงบัลเล่ต์ และการบรรเลงดนตรีออเคสตรา นำมาร้อยเรียงต่อกันเป็นการแสดง 2 องก์ ความยาว 2 ชั่วโมงเศษ โดยมุ่งนำเสนอการปะทะสังสรรค์กันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก ซึ่งจุดประกายให้เกิดมิตรภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และพลังในการพัฒนา ที่ยังทรงอิทธิพลมาจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ การแสดงดนตรีพิเศษ “1907: Rama V European Operatic Journey” นอกจากเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 120 ปีแห่งการก่อตั้งสยามสมาคมฯ ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมอันหาชมได้ยาก ซึ่งถือเป็นพันธกิจหนึ่งของสยามสมาคมฯ ที่มีมาช้านาน เนื่องจากโอเปร่าบางชิ้นที่นำมาแสดงไม่เคยมีการแสดงสดมานานหลายปี 

โดยการแสดงดนตรีพิเศษชุด “1907: Rama V European Operatic Journey” จะจัดขึ้น ณ หอประชุมสยามสมาคมฯ ถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21) รอบแรก ในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น., รอบที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น., รอบที่ 3 วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น., รอบสุดท้ายวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2557 เวลา 16.00 น. ราคาบัตร 2,000 บาท (ทุกที่นั่ง ไม่ระบุที่นั่ง) และรอบพิเศษเฉพาะนักเรียน นักศึกษา วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. ราคาบัตร 600 บาท (ทุกที่นั่ง ไม่ระบุที่นั่ง) เริ่มจำหน่ายบัตรวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2567 รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนเพื่อพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ช่องทางการจำหน่ายบัตรที่ อีเมล : opera@thesiamsociety.org โทรศัพท์. 02-661-6470 (เฉพาะเวลาทำการ อังคาร-เสาร์ 9.00 – 17.00 น.) ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thesiamsociety.org/ หรือเฟสบุ๊ก : TheSiamSocietyUnderRoyalPatronage

_________________________________

เกี่ยวกับสยามสมาคม

สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Siam Society Under Royal Patronage) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 โดยกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีชาวสยามและต่างชาติ  เป็นองค์กรทางวัฒนธรรมของไทยที่มีขอบเขตงานระดับสากล ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของไทยและของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สยามสมาคมฯ ดำเนินงานผ่านคติพจน์ที่ว่า “วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ” โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นองค์บรมราชูปถัมภกพระองค์แรก

ในปีพ.ศ. 2567 ซึ่งนับเป็นปีที่ 120 ของการดำเนินงาน คณะกรรมการสยามสมาคมฯ ได้มีมติให้จัดกิจกรรมพิเศษขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวตลอดทั้งปี โดยกำหนดให้กิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชน เกี่ยวกับบทบาทของสยามสมาคมฯ ในฐานะแหล่งศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งสำหรับผู้เชี่ยวชาญและบุคคลทั่วไป