วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 3 : 52 am
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 3:52 am

“กตป.” จัดประชุม “การแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน” เพื่อฟังความเห็นของทุกหน่วยงานและประชาชน

นางสาว อารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานเปิดการประชุมเรื่อง “การแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน” จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี วงษ์วิฑิต ที่ปรึกษาโครงการ และ ดร.อรรณพ พึ่งเชื้อ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยายสรุปความเป็นมา/สภาพปัญหาในปัจจุบัน และ กฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งระเบียบ ประกาศต่าง ๆ ของ กสทช.ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องการแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน โดยมีหน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมในช่วงเช้า


นอกจากนี้ในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย (workshop) เพื่อระดมความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม พร้อมสรุปผลการประชุม เมื่อวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30-16.00 น. ณ ห้องประชุมแซฟไฟร์ 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค
โดย นางสาว อารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงการจัดประชุมครั้งนี้ว่า
“เคยได้รับผลกระทบกับแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) แต่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่เสียเงินไปนะคะ แต่ถูกแอบอ้างชื่อ เคยได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแถวพิษณุโลกแจ้งว่ามีผู้กระทำความผิดโทร.ไปหาผู้เสียหายแต่อ้างชื่อว่าเป็นตัวดิฉันเอง แล้วผู้เสียหายเองก็ได้มีการสูญเสียทรัพย์สินไปแต่เขาจำได้ว่าผู้ต้องหาอ้างว่าชื่อ อารีวรรณ จตุทอง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับเรื่องก็เลยประสานมาเพื่อสอบปากคำดิฉันว่ารู้จักทั้งผู้กระทำผิดและผู้เสียหายไหม นี่ก็ถือว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center)เหมือนกันค่ะ จริง ๆ ต้องบอกว่าเรื่องปัญหาของแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชนเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานหลายปีแล้วนะคะ แล้วประเด็นที่สำคัญผู้กระทำความผิดหรือมิจฉาชีพเขาก็พยายามใช้เทคโนโลยี รวมถึงการอ้างอิงข้อมูลให้ได้มากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำได้ ที่เราเป็นประชาชนผู้บริโภค แล้วเกือบจะเป็นผู้เสียหายต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง หรือมีปัญหาอื่น ๆ ตามมานะคะ สมมติว่ามีคนโทรศัพท์เข้ามาหรือส่ง SMS เข้ามาต้องคอยเช็กให้ดีก่อน พิจารณาให้ดีก่อน ตัวคุณแม่และดิฉันก็เคยโดนแก๊งโทรศัพท์ (Call Center)โทร.มาเมื่อหลายปีที่แล้วนะคะ ทางแก๊ง Call Center พยายามพูดเบี่ยงเบนให้ดิฉันหวาดกลัว เผอิญโชคดีว่าตัวดิฉันเองเป็นนักกฎหมายและเราก็มีเพื่อนฝูงอยู่ในหน่วยงานภาครัฐในขบวนการยุติธรรม แล้วดิฉันก็โทร.หาเพื่อน ๆ บอกเธอโดนแก๊ง Call Center แล้วล่ะ ไม่มีหรอก แล้วเขาก็ให้ข้อมูลมาเป็นการเตือนสติกับทุกท่านว่า หน่วยงานภาครัฐโดยส่วนใหญ่จะไม่มีบริการประสานแบบนี้เลย แล้วโดยหลักการแล้วถ้าต้องประสานกับผู้เสียหายโดยตรงเขาต้องมีหนังสือ ซึ่งเป็นหนังสือหน่วยงานราชการแล้วก็มีเบอร์โทรให้เราโทร.กลับไปสอบถามได้ว่าเป็นหน่วยงานนี้จริง ๆ ค่ะ ตอนนี้ที่มีลักษณะของการโทร.เข้ามาแล้วอ้างตัวเป็นหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้คือเป็นมิจฉาชีพทั้งหมดค่ะ ซึ่งก็อยากจะเตือนประชาชนทุกคน ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทัน อันนี้สำคัญที่สุดต้องมีสติค่ะ”