วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 8 : 00 am
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 8:00 am

วช. น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนมาเป็นหลักในการวิจัย โดย เชิญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มากล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แก่นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในมหกรรมวิจัยแห่งชาติ2566

ที่ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้การต้อนรับ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในโอกาสเดินทางมาร่วมปาฐกถาพิเศษ เนื่องในงาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566” ในหัวข้อ “แก่นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐาน SEP for SDGs”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ขอขอบคุณ วช. ที่ได้เชิญมาให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่ได้มีโอกาสเรียนจากปราชญ์ของโลก คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยไม่ได้นึกฝัน เป็นเวลา 35 ปี วันนี้จึงขอน้อมนำเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืน” มาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพราะนับตั้งแต่ปี 2542 เราได้พบคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แล้วใช้กันเรื่อยมา เราพูดเรื่องนี้กันมาตลอดตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงชาวไร่ชาวนา เราพูดกันแต่จะมีใครรู้บ้างว่า เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบิตร ทรงรับสั่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงบัดนี้ 20 ปีแล้ว วันนี้ตนก็ยังได้รับเชิญมาพูดเรื่องนี้อีก ประเทศไทยแปลกตรงที่เรามีแผน แต่แผนก็คือแผน คนทำแผนก็ทำไป ประกาศใช้ก็ประกาศไป แต่ไม่มีคนนำไปใช้จริง “

วันนี้จึงขออัญเชิญมาอย่างเป็นทางการถึงคำจำกัดความคำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ Sufficiency Economy Phylosophy ซึ่งคนทั่วไปยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นข้อความ 3 ประโยค ที่ทรงเตือนถึง 3 ครั้ง ยิ่งอ่านยิ่งทำให้เข้าใจ ทรงเตือนไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ทั้งสถานการณ์ โควิด-19 การบ้านการเมือง แต่เราไม่สนใจ ได้แต่พูดเท่านั้น และเราทำอย่างผิวเผิน ทรงรับสั่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำรงอยู่ของประชาชนทุกระดับ ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงระดับรัฐ การพัฒนาโดยเดินบนทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการเตือนครั้งที่หนึ่ง เพื่อให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่ให้ก้าวตามแต่ให้รู้ทันโลกาภิวัตน์ เพราะโลกาภิวัตน์เป็นเหรียญสองด้านที่มีทั้งดีและร้าย ถ้าเป็นด้านร้ายเราก็ไม่ควรรับไว้

“พอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลมีภูมิคุ้มกัน เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน จึงทรงสอนต่อไปอีกว่า เราจะต้องมีความรอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่งในด้านการนำวิชาการมาวางแผน ขณะเดียวกันจะต้องเสริมด้วยจิตใจของคนในชาติ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี นักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีความสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และใช้ชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ มีปัญญา และความรอบคอบ เป็นการเตือนอีกครั้งส่งท้าย แสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เรื่องเดียวทรงเตือนถึง 3 ครั้ง จึงเห็นว่า ทั้งเรื่องโควิด-19 สถานการณ์การเมืองไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นคน 2 เจเนอเรชั่นพูดกันไม่รู้เรื่อง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ทรงเตือนพวกเราแล้วทั้งสิ้น”

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวต่อไปว่า อยากให้ทุกคนกลับมาพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาจะพบว่า ปัจจุบันมนุษย์ไม่ว่าอยู่ที่ไหน กำลังใช้ชีวิตด้วยการบริโภคเกินเหตุ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ตะกละที่สุดบริโภคอย่างไม่มีข้อจำกัด ทะเยอทะยานกระหายตลอดเวลา ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการบริโภคเกินทั้งสิ้น ยาที่เรากินเข้าไปหมอไม่ได้รักษา เป็นยาลดไขมัน ยาลดน้ำตาลเท่านั้น เพียงแค่ลดการนำอาหารใส่ปากอาการป่วยก็จะหายไป ลองเหลียวดูสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน มีสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อยู่ถึงร้อยละ 70 เราไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้ สิ่งสำคัญ คือ จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 60 ปี จากจำนวน 2,500 ล้านคน เป็น 8,000 ล้านคน เมื่อไม่กี่วันมานี้ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ จนป่าไม้และป่าชายเลนหมดไป แม่น้ำเน่าเสีย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แม้แต่ PM 2.5 ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมีก็กลายเป็นปัญหา

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ระบบทุนนิยมและการคิดถึงแต่เรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการวัดจาก GDP ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้เกิดการแย่งชิงและตามมาด้วยสงคราม โดยคาดว่าอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าอาจจะเจอกับสงครามแย่งน้ำได้ และถ้าจะกล่าวถึงการเดินทางที่ผิดพลาดของไทย บางทีอาจจะเริ่มตั้งแต่เมื่อตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ใช้ชื่อว่า สภาการเศรษฐกิจ ยังไม่มีสังคม พึ่งจะมาเติมคำว่าสังคมเมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาฉบับที่ 3 โดยตนได้เข้ามาทำงานที่สภาพัฒน์ฯ ในปี 2512 และเห็นว่า เราจะคิดถึงเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ ต่อมาในปี 2538 เมื่อมีการจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ในฐานะเป็นนักรัฐศาสตร์คนแรกที่มาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ จึงเกิดแนวคิดที่จะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางและมองปัญหาสังคมให้มากขึ้น และต่อไปอาจจะต้องต่อท้ายสภาพัฒน์ฯ เป็นสิ่งแวดล้อมและการเมืองด้วย

ในตอนท้าย เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงรับสั่งถึงความสุขมวลรวมของพลเมืองมาตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งเป็นทั้ง good governance และ SDGs แต่ทรงคิดเรื่องเหล่านี้ก่อนที่สหประชาชาติจะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ในระดับโลก รวมถึง ทศพิธราชธรรมที่ทรงใช้เป็นหลักปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพ

นอกจากนี้ ยังทรงรับสั่งถึงงานด้านวิจัยและนวัตกรรมซึ่งน่าจะเป็นโจทย์สำคัญที่ฝากไว้ให้ วช. ว่างานวิจัยและนวัตกรรมควรคิดไปถึงการทำเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ และอย่าคิดถึงแค่นวัตกรรมจะให้เป็นตัวเงินหรือเศรษฐกิจ แต่ต้องถามด้วยว่า สังคมจะได้อะไรจากนวัตกรรม