วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 8 : 45 am
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 8:45 am

“สมศ.” เปิดผลความสำเร็จ “โครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก” สถานศึกษาพอใจการทำงานผู้ประเมินกว่าร้อยละ 95 พร้อมเดินหน้ายกระดับผู้ประเมินสู่ Best Quality Consultant

สมศ. เปิดผลความสำเร็จการขับเคลื่อน “โครงการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก” พบสถานศึกษาพึงพอใจการทำงานของผู้ประเมินภายนอกกว่าร้อยละ 95 พร้อมเดินหน้ายกระดับมาตรฐานผู้ประเมินภายนอก ภายใต้ 3 บทบาทหน้าที่หลัก “ประเมินแม่นยำ – ก้าวทันเทคโนโลยี – ไม่สร้างภาระสถานศึกษา” เพื่อพัฒนาให้ผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. เป็น Best Quality Consultant รับการประเมินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า สมศ. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมศักยภาพและพัฒนาผู้ประเมินภายนอกทุกประเภท และทุกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อยกระดับไปสู่ “ผู้ประเมินมืออาชีพ” เป็นที่ยอมรับและพึงพอใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจากสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. และหน่วยงานต้นสังกัด เพราะผู้ประเมินภายนอกมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้แทนของ สมศ. ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและสะท้อนผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกได้รับความเชื่อถือและความไว้วางใจจากสถานศึกษา ดังนั้น ผู้ประเมินภายนอก จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้พันธกิจหลักของ สมศ. ก้าวไปสู่ความสำเร็จ และเพื่อให้การพัฒนาผู้ประเมินภายนอกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมศ. จึงมี “โครงการการติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก (QC100)” ซึ่งได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดย “QC” มาจาก “Quality Control” และ “100” หมายถึง ผู้ประเมินทุกคน ทุกระดับการศึกษา โดยให้สถานศึกษาซึ่งเป็นผู้รับบริการโดยตรงของ สมศ.ตอบแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอกผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. (AQA) เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก และนำผลจากการติดตามมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้ประเมินภายนอกต่อไป

สำหรับผลการประเมินการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอกจากสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษามีความพึงพอใจต่อผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้ 1) สถานศึกษาพอใจในด้านทักษะ ผู้ประเมินภายนอก สมศ. กว่าร้อยละ 95 ประกอบด้วย 1) ทักษะการเขียนรายงานการประกันคุณภาพภายนอก 2) ทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม มีเหตุมีผล และ 3) ทักษะการรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกจากข้อมูลรายงาน การประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) 2) สถานศึกษาพอใจในด้านคุณลักษณะ ผู้ประเมินภายนอก สมศ. กว่าร้อยละ 94 ด้านการประสานงานและการสื่อสารระหว่างสถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอก (เพื่อการจัดส่งเล่มรายงานการประกันคุณภาพภายนอก และผลการประเมิน SAR) มีความเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพ 3) สถานศึกษาพอใจในด้านความรู้ความสามารถ ผู้ประเมินภายนอก สมศ. กว่าร้อยละ 94 สถานศึกษามองว่าผู้ประเมินภายนอกมีความรู้ตามแนวทาง รูปแบบ และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก (External Quality Assessment) หรือ EQA และสามารถเชื่อมโยงกับการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา (Internal Quality Assurance) หรือ IQA หมายถึง การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการศึกษาจากภายใน ตามวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act) เป็นการปฏิบัติโดยบุคลากรของสถาบันการศึกษาหรือโดยหน่วยงานต้นสังกัด ที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการศึกษานั้นๆ และมองว่าผู้ประเมินภายนอกมีความรู้ความเข้าใจในบริบทของสถานศึกษา จากการศึกษาข้อมูลรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) “ทั้งนี้ สมศ. ขอเชิญชวนให้สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. เรียบร้อยแล้ว เข้ามาประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก เพื่อที่ สมศ. จะได้นำข้อมูลไปใช้เพื่อการพัฒนาหรือส่งเสริมผู้ประเมินภายนอกให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทการทำงานของสถานศึกษามากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้ประเมินภายนอกสะท้อนผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป”

ดร.นันทา กล่าวเสริม นอกจากนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สมศ. ยังคงเดินหน้าแผนยกระดับมาตรฐานผู้ประเมินภายนอกเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยพัฒนาหลักสูตรและอบรมผู้ประเมินภายนอกเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับผู้ประเมินภายนอกเป็น Best Quality Consultant ให้กับสถานศึกษาใน 3 บทบาทหน้าที่หลัก ได้แก่ ด้านวิชาการ ผู้ประเมินภายนอกจะต้องมีความรู้ ความสามารถในเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน สามารถทำการประเมินและสะท้อนผลการดำเนินงานของสถานศึกษาด้วยความถูกต้อง สอดคล้องตามบริบท มีความแม่นยำ ตรงไปตรงมา เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินที่ สมศ. กำหนด และสามารถให้ข้อเสนอแนะเป็นรายสถานศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจของการประเมิน โดยข้อเสนอแนะที่ให้กับสถานศึกษาต้องนำไปปฏิบัติได้จริง สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษาจึงจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อสถานศึกษาได้จริง ด้านเทคโนโลยี ผู้ประเมินภายนอกจะต้องมีความสามารถและทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ดี เป็นการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และสอดรับกับนโยบายของ สมศ. ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Organization) ทั้งนี้ สมศ. ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประเมิน ในทุกขั้นตอน เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก (AQA) ระบบจัดเก็บรายงานประเมินตนเอง (e-SAR) การพัฒนาระบบ Mobile Application (ONESQA-V) สำหรับผู้ประเมินภายนอกในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแบบ Onsite สถานศึกษาทุกระดับ เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการประเมิน และนับได้ว่ามีความทันสมัยเท่าเทียมกับระบบการประเมินสถานศึกษาของนานาประเทศ ผู้ประเมินภายนอกสะท้อนภาพลักษณ์ของ สมศ. ในระหว่างการปฏิบัติงาน ด้วยการทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษาและเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะกับสถานศึกษาอย่างถูกต้องตรงประเด็น ภายใต้ “ความเป็นกัลยาณมิตร” และ “ไม่สร้างภาระกับสถานศึกษา” ซึ่งการดำเนินงานของ สมศ. ที่ผ่านมาให้ความสำคัญเรื่องคุณลักษณะและบทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินภายนอก โดยผู้ประเมินภายนอกถือเป็นตัวแทนของ สมศ. ดังนั้น ผู้ประเมินภายนอกไม่เพียงแต่จะต้องมีองค์ความรู้ตามที่ สมศ.กำหนด แต่ยังต้องก้าวทันเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อการประเมินที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ของประเทศต่อไป