วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 8 : 00 am
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 8:00 am

วช. ผนึกเครือข่ายการแพทย์ จัดเสวนา “การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยี : มิติสุขภาพและสาธารณสุข” มุ่งยกระดับสาธารณสุขไทย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 : Thailand Research Expo 2023” ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
วันที่สามของการจัดงาน วันที่ 9 สิงหาคม 2566 เปิดเวทีเสวนาด้วยหัวข้อ “การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยี : มิติสุขภาพและสาธารณสุข” โดยได้รับเกียรติจากประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ รวมทั้งผู้บริหารจากหน่วยงาน PMU ที่ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในมิติสุขภาพและสาธารณสุข ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และผู้บริหารหน่วยงานด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิและนักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การสร้างขีดความสามารถด้านสุขภาพหรือการแพทย์ มีการมองภาพระยะยาวโดยใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้ง เพื่อการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชาชนมากกว่าร้อยละ 85 ประเทศไทยมีการพึ่งพาเทคโนโลยีหรือยาของต่างประเทศ หรือการเข้าถึงยาบางชนิด ยังเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสร้างความแตกต่าง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ควรเริ่มคำนึงถึงการแบ่งจ่าย service จึงขอฝาก PMU ที่เกี่ยวข้องควรมีงานวิจัยที่สร้าง coordination และ collaboration เพื่อลดการกระจุกและเกิดการกระจาย สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ควรมีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเช่นกัน การจำแนก Hospital care เพื่อคนที่ต้องการ โดยตรงหรือควรใช้ Clinic care แทน นอกจากนี้ควรมีการแยกแยะความจำเป็นของความคุ้มค่าของการใช้ยา และการต่อยอดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในระดับพื้นฐานควรได้รับการพัฒนา ความสามารถในการพัฒนาทางคลินิก ระบบที่คำนึงถึงความปลอดภัย การขึ้นมาตรฐาน อย. ทั้งห้องปฏิบัติการ สถานที่ผลิตที่ได้รับ GMP หรือแม้แต่ศูนย์การทดลอง ควรมีตามความเหมาะสมไม่เกินความจำเป็นและได้รับมาตรฐานโดยหน่วยงานที่บริหารจัดการทุน เช่น ทีเซลส์(TCELS) สวรส. และ บพข. ร่วมมือกันดำเนินการส่วนกลางจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการผนวกความร่วมมือ นำไปสู่การเชื่อมโยงทางนโยบาย ด้วยความสามารถของนักวิจัย ความรู้ที่หลากหลาย โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ จะสามารถเติมเต็มการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) กล่าวว่า บพข. เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมในส่วนของภาคการผลิตที่เป็นภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนได้โดยตรง โดยทุนที่จัดสรรจะให้เพื่อใช้ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชื่อมโยง Value Chain ที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีการจดลิขสิทธิ์ ไปจนถึงการทำตลาด การทำ Digital Platform โดย บพข. มีกลไกการขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่ในประเทศให้มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับ รวมถึงการร่วมมือพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับเครือข่ายทั่วโลก สิ่งที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การวิจัยไม่ประสบผลสำเร็จคือการจัดทำ Clinical Trial ทาง บพข. จึงได้จัดทำ Clinical Research Organization แห่งแรกของประเทศไทย ที่จะช่วยดูแลเรื่องเอกสารต่างๆ ไปจนถึงการเป็นที่ปรึกษาในการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. และมีการให้คำปรึกษาเรื่อง Feasibility Study เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานในระดับสากล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า บทบาทของ สวรส. คือ การสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา หรือแม้กระทั่งการแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นปัญหาในด้านระบบการจัดการ หรือ ด้านการจัดการโรค แผนงานที่ สวรส. รับผิดชอบ คือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ในด้านการแพทย์และสุขภาพให้เป็นระบบ มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ และการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศให้พร้อมรับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และแผนงานจึงได้เป็นแผนงานย่อย ในการสร้างขีดความสามารถและยกระดับจีโนมิกส์ การแพทย์แม่นยำ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การพัฒนาความเป็นธรรมระบบสุขภาพ และการพัฒนาระบบสุขภาพตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและภัยสุขภาพ นอกจากนี้ สวรส. ยังมีการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพโดยการเตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศในอนาคตอีกด้วย

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิและนักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ในปัจจุบันนั้นจำเป็นต้องประเมินให้รอบด้านทั้งทางด้านของความคุ้มค่าของเทคโนโลยี ศีลธรรมและผลกระทบด้านสังคม และประเมินเกี่ยวกับความเป็นไปได้ อาทิการประเมินยาเพื่อขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากยาส่วนใหญ่ที่ใช้นั้นไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ความสามารถในการเข้าถึง หรือกำลังที่สามารถจ่ายให้คนไข้ได้นั้นมีความยากลำบากมากขึ้น ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า ราคายาทั่วไปหรือยาที่จะผลิตขึ้นจะมีราคาที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัวเนื่องจากความสามารถของยามีการวิจัยที่สามารถใช้งานได้เร็วขึ้น ดีขึ้น ง่ายต่อการขึ้นทะเบียนยา แต่ไม่ได้ขึ้นบัญชีเป็นยาหลักแห่งชาติ หากจะขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น จะต้องมีความคุ้มค่า ตอบโจทย์ต่อเหตุการณ์ในประเทศ ส่วนยาทั่วไปที่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ได้มากนัก สมควรสนับสนุนพัฒนาเพื่อที่จะเป็นยารองรับและการันตีในลักษณะยาอื่น ๆ ได้ การมองไปข้างหน้าในอีก 5-10 ปีนั้นหน่วยงานเล็งเห็นถึง “ความสวยงามของความแตกต่าง” คือ ความสามารถที่ทุกหน่วยงานทุกประเทศมีมาแข่งขันกัน เพื่อที่จะเรียนรู้กัน โดยจะต้องให้ความสนใจในวงกว้างสามารถทำนวัตกรรมที่ใหม่และพัฒนาขึ้นได้ โดยมีการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมใน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่สร้างไทยยั่งยืน