วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 4 : 20 pm
วันอาทิตย์, 24 พฤศจิกายน 2024 | 4:20 pm

ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 จับมือ ก.พ.ร.ลุยแก้ปัญหาระดับจังหวัด

รมว. อว. แถลง ววน. รวมพลังเครือข่ายภาคีนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ แก้วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 เผยจับมือ ก.พ.ร. นำร่องพื้นที่เป้าหมายในสองจังหวัด ลำปางและสิงห์บุรี พร้อมขยายผลต่อในเชียงใหม่และขอนแก่นที่มีแนวโน้มค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าว “ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤต PM2.5” ณ ห้องประชุม อาคารพระจอมเกล้า ถนนโยธี ซึ่ง อว. มีความร่วมมือกับเครือข่ายภาคีต่าง ๆ ในการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นเครื่องมือในการแก้วิกฤตทางอากาศ ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดทั่วประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ อว. ตระหนักถึงปัญหา PM2.5 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนระบบวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้กำหนดประเด็นการแก้ปัญหานี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานวิจัยในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของแผนด้าน ววน. โดยเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบ ววน. ทั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน รวมทั้งหน่วยวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น ข้อตกลงความร่วมมือด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ผ่านกลไกการทำงานของอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม โดยเลือกประเด็นการแก้ไขปัญหาและลดฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศ มีพื้นที่ทดลองนำร่องในจังหวัดลำปางและสิงห์บุรี

จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและจุดไฟไหม้ในพื้นที่ของ 2 จังหวัดเป้าหมาย พบว่าจังหวัดลำปางมักเกิดจุดไฟไหม้ในพื้นที่ป่า ขณะที่จังหวัดสิงห์บุรีมักเกิดจุดไฟไหม้ในพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะไร่อ้อยและนาข้าว สกสว.จึงค้นหางานที่มีศักยภาพในพื้นที่ อาทิ ผลงานวิจัย Low-cost sensor (DUSTBOY) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำมาเชื่อมโยงข้อมูลให้ไปแสดงผลค่าฝุ่นละอองแบบเรียลไทม์ร่วมกับสถานีวัดสภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษบนแพลตฟอร์มกลางบนเว็บไซต์ http://pm25air.opengovernment.go.th ซึ่งพัฒนาโดย ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ
ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โดยผู้แทนระดับจังหวัดสามารถนำข้อมูลระดับพื้นที่ขึ้นแสดงร่วมกันได้ เช่น ข้อมูลจุดเกิดไฟไหม้ในพื้นที่โล่ง ข้อมูลการขออนุญาตจัดการการเผา ฯลฯ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสำคัญและหน่วยงานในจังหวัดเป้าหมายสามารถบริการจัดการปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม กล่าวถึงผลการติดตามการดำเนินงานระดับพื้นที่ว่าจุดความร้อนในทั้งสองจังหวัดลดลงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยใน 5 ปีก่อนหน้า โดยจังหวัดลำปางการเกิดจุดความร้อนลดลงจาก
ปี 2564 จำนวน 3,549 จุด หรือร้อยละ 61 และพื้นที่เกิดไฟไหม้ลดลงร้อยละ 88 ขณะที่จังหวัดสิงห์บุรีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูกาลผลิตลดลงจากปี2564 ร้อยละ 13 สถิติการลอบเผาตอซังข้าวและเศษวัสดุเกษตรอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 29
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในจังหวัดลำปาง สกสว. ก.พ.ร. และหน่วยงานภาคี ได้คัดเลือกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการมุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการลดการเผาในพื้นที่ป่า เช่น แพลตฟอร์มการสร้างรายได้ป้อนกลับให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าผ่านกลไกตอบแทนคุณนิเวศ รวมถึงการขยายผลงานวิจัยการบริหารจัดการป่าชุมชน เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรปราณีตเพื่อสร้างรายได้และลดผลกระทบในพื้นที่ป่า ฯลฯ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้ประโยชน์และภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุน ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในจังหวัดสิงห์บุรีได้คัดเลือกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้จากเศษวัสดุทางการเกษตรซึ่งเป็นต้นเหตุของการเผา เช่น แพลตฟอร์มที่ให้เกษตรลงทะเบียนในระบบติดตามการลดเผาเพื่อรับประโยชน์จากการจัดการชีวมวล เครื่องจักรขนาดเล็กที่ช่วยตัดสางใบอ้อยเพื่อลดการเผา การแปรรูปเศษชีวมวลเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และระบบโลจิสติกส์เพื่อจัดการการซื้อขายเศษวัสดุเกษตรเพื่อใช้เป็นชีวมวล ฯลฯ

รศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. ได้กล่าวถึงการวิเคราะห์ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยการใช้ AI ประมวลผลจากงานวิจัยกว่า 20,000 ชิ้นงาน พบว่าหากได้ร่วมกันนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานคร ได้ถึงร้อยละ 83.55 และลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3,748 คนต่อปี
ส่วนการดำเนินงานต่อไป รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. จะร่วมมือกับหน่วยงานในระบบ ววน. ก.พ.ร. และกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่เป้าหมายทั้งสองจังหวัด และขยายผลในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งต้องการใช้ผลงานวิจัยขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับจังหวัด และเตรียมการขยายผลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีแนวโน้มค่าฝุ่นละอองสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สกสว. ได้เสนอแผนการขับเคลื่อนการนำผลงานและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในปีงบประมาณ 2567 ด้วย