วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2024 | 8 : 39 am
วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2024 | 8:39 am

วช. หนุน “อุทยานธรณีโลกสตูล” ยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG

เมื่อวันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ดร.มารยาท สมุทรสาคร และ ดร. สุพจน์ อาวาส ลงพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช.

“โครงการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในเขตอุทยานธรณีโลกสตูล จังหวัดสตูล” โดยมีโครงการตามแผนการดำเนินงาน จำนวน
5 โครงการ ได้แก่ 1) การนำนวัตกรรมการจัดการองค์กรสาธารณะแบบลีนในการกำหนดรูปแบบการบริหาร และการพัฒนากลไกการจัดการอุทยานธรณีระดับโลกในประเทศไทยให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ และรองรับเกณฑ์ประเมินของ UNESCO โดย นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ และคณะ สำนักงานอุทยานธรณีโลกสตูล 2) การพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล จังหวัดสตูล โดย นางสาวนงลักษณ์ โรจนแสง และคณะ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 3) การจัดทำแผนผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิล เขาน้อยและป่าพน อุทยานธรณีโลกสตูล โดย รศ.ดร. นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ และคณะ มหาวิทยาลัยมหิดล 4) การสำรวจปริมาณไมโครพลาสติกและโลหะหนักในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล โดย นางสาวโอบเอื้อ อิ่มวิทยา และคณะ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และ 5) แผนงานการพัฒนาพริกไทยสุไหงอุเป และผ้าบาติก เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของจังหวัดสตูลและสร้างมาตรฐานจำเพาะที่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ที่สื่อถึงสมบัติด้านคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดย นางสาวสายจิต ดาวสุโข และคณะ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ตามวิสัยทัศน์“เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อุทยานธรณีโลก เศรษฐกิจมั่นคง สังคมน่าอยู่สันติสุขยั่งยืน ประตูสู่อาเซียน” ในการผลักดันให้จังหวัดสตูลเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ อุทยานธรณีโลกสตูลเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ นิเวศวิทยา โบราณคดี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญของคนทั้งโลก โดยโครงการดังกล่าวจะนับเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทำให้คนในพื้นที่มีอาชีพ สร้างรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน