ดร.ปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หัวหน้าโครงการ “การพัฒนาระบบจัดการให้บริการสาธารณสุขด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่บังคับระยะไกลภายใต้สถานการณ์โรคติดต่อร้ายแรง” เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินการพัฒนาระบบจัดการให้บริการสาธารณสุขด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่บังคับระยะไกลภายใต้สถานการณ์โรคติดต่อร้ายแรงหรือ หุ่นยนต์เคลื่อนที่บังคับระยะไกล “หุ่นยนต์ปิ่นโต 2” ให้บริการสาธารณสุข ด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่บังคับระยะไกลที่มีภารกิจ ขนส่งอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ภายในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลภาคสนามในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยลดการสัมผัสเชื้อไวรัสของบุคลากรทางการแพทย์และลดการใช้ชุด PPE ในกิจกรรมที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ
โดยในเบื้องต้น กลุ่มงานนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ทำการสำรวจความต้องการใช้หุ่นยนต์ของโรงพยาบาล พบว่ามีความต้องการใช้หุ่นยนต์จากโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งสิ้น 145 แห่ง จำนวน 393 ตัว ต่อมากลุ่มงานนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วศ.จึงได้จัดทำหุ่นยนต์หุ่นยนต์บังคับขนาดเล็ก(หุ่นยนต์ปิ่นโต 2) จำนวน 80 ตัว พร้อม database สำหรับบริหารจัดการการซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ โดยได้รับการจัดสรรเงินทุนจาก วช.
ดร.ปาษาณ กล่าวต่อว่า สำหรับส่วนประกอบของหุ่นยนต์ปิ่นโต 2 ประกอบด้วยชุดควบคุมรีโมทบังคับวิทยุ, ระบบกล้องที่ส่งข้อมูลภาพที่ส่งทางคลื่นวิทยุ โครงรถเข็น และระบบชุดขับเคลื่อนหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยกลุ่มงานนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นอกจากนี้หุ่นยนต์ปิ่นโต 2 ยังสามารถติดตั้ง ชุด telepresence เพิ่มเติ่มได้ โดย 1 ชุดประกอบไปด้วย tablet 2 ตัวที่ทำการติดตั้ง Application สำหรับใช้ในการสื่อสารด้วยวีดีโอระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยโดยจะมีการจัดทำหุ่นยนต์ปิ่นโต 2 เพิ่มเติมจำนวน 80 ตัว เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศในการช่วยเหลือและสนันสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด- 19
นอกจากนี้หุ่นยนต์ปิ่นโต 2 ยังสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาและรองรับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ได้ในอนาคตอีกด้วย