กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มอบรางวัล RLU Award ให้กับโรงพยาบาลที่พัฒนาระบบ RLU จนประสบผลสำเร็จ ปลอดภัย คุ้มค่า นำพาประโยชน์ เพื่อระบบสุขภาพที่มั่นคงและยั่งยืน
วันนี้ (13 สิงหาคม 2567)ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล RLU Award การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU) เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับโรงพยาบาลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาระบบ RLU จนประสบผลสำเร็จ โดยมี ผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการ RLU โรงพยาบาล และภาคีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัย สมาคมโรค มหาวิทยาลัย สภา สมาคม ชมรมเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างสมเหตุผล (Rational Lab Use, RLU) ไม่ใช่การลด การสั่งตรวจ Lab เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เป็นการกำหนดแนวทางการสั่งตรวจ Lab เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อการดูแลสุขภาพประชาชน ไม่มากเกินความจำเป็น หรือไม่น้อยเกินไป จนอาจส่งผลต่อการวินิจฉัยและรักษา จากข้อมูลพบว่า มีการสั่งตรวจที่น้อยเกินไปประมาณ 45% และมีการสั่งตรวจที่มากเกินไปประมาณ 20% ดังนั้นหากนำเอา RLU มาประยุกต์ใช้ในระบบบริการสุขภาพที่มีค่าใช้จ่ายทางห้องปฏิบัติการเฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท อาจทำให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำโครงการ RLU ตั้งแต่ปี 2565 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีประสิทธิภาพและถูกต้อง โดยเลือกใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างเหมาะสมในการคัดกรอง การวินิจฉัย การติดตามผลการรักษาและพยากรณ์โรค โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยเบื้องต้นได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัย สมาคมโรค มหาวิทยาลัย สภา สมาคม ชมรมเทคนิคการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทาง RLU ประกอบด้วยโรคนำร่อง 8 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.โรคเบาหวาน 2.โรคหัวใจ 3.โรคตับ 4.โรคไต 5.ตรวจสุขภาพ (Check up) 6.โรคติดเชื้อ (Pneumonia, Diarrhea, TB, Dengue, Sepsis, CNS infection) 7.โรคความดันโลหิตสูง และ 8.การเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด (Preoperative) โดยระบุรายการทดสอบที่ควรสั่งตรวจและไม่ควรสั่งตรวจ ในแต่ละกลุ่มโรค และจะเพิ่มโรคที่จำเป็นขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้ป่วยและโรงพยาบาล มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย RLU ปลอดภัย คุ้มค่า นำพาประโยชน์ สร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของไทย
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินงาน RLU ซึ่งเริ่มตั้งแต่นำไปประยุกต์ใช้ใน 23 โรงพยาบาลนำร่อง ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ จากนั้นได้พัฒนาเครื่องมือสำคัญในการวางระบบ RLU อย่างยั่งยืนให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ใช้เป็นแนวทางดำเนินการโดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ นั่นคือ “บันได 4 ขั้น สู่การเป็น RLU Hospital” และลงพื้นที่ 4 ภาค เยี่ยมเสริมพลัง มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เกิดความสำเร็จจากการทำ RLU มากมาย รวมถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและระบบสุขภาพ อาทิ การปรับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลให้มีการแจ้งเตือนแพทย์ให้ทราบว่ามีการสั่งตรวจ Lab ป้องกันการสั่งซ้ำ แจ้งเตือนความถี่ที่เหมาะสมต่อการสั่งตรวจ ทั้งยังมีระบบสอบทานสั่งตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีผลลัพธ์ที่แสดงถึงทำให้โรงพยาบาลอื่นสนใจและเข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีโรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย จากทุกภาคทั่วประเทศ เข้าร่วมแล้วกว่า 534 แห่ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดงานมอบรางวัล RLU Award เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจให้กับโรงพยาบาลและจังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการ RLU ดำเนินงานตามแนวทางบันได 4 ขั้น โดยได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์การตัดสินและคัดเลือกจากคณะกรรมการประเมินผล RLU ประกอบด้วย รางวัลระดับเครือข่าย 4 รางวัล ระดับประเทศ 2 รางวัล รางวัลระดับภาค 5 รางวัล รางวัลระดับจังหวัด 53 รางวัล รางวัลต้นแบบ 4 รางวัล และมอบประกาศนียบัตรให้กับโรงพยาบาลเป็น RLU Hospital 71 รางวัล
ทั้งนี้โรงพยาบาลที่สนใจร่วมโครงการ RLU สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทรศัพท์ 02951 0000 ต่อ 99939 และ99940 หรือที่เว็บไซต์ www.rluthailand.com ” นายแพทย์ยงยศ กล่าว
13 สิงหาคม 2567