เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 69 พรรษา 2 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล และลงนามถวายพระพร ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมทั้งร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) แถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ rspg.nrct.go.th โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี
โดยมี นายวรรณศักดิ์ รุ่งโรจน์วณิชย์ ผู้ตรวจสอบทางวิชาการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นางสาวรัชนีเพ็ญ เพ็ญสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ผู้แทนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ วช. พร้อมใจสวมใส่เสื้อสีม่วงร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ณ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในวันที่ 1 เมษายน 2567
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-วช.) ได้ร่วมสนองพระราชดำริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30 ปี ดำเนินงานด้านการสนับสนุนเชิงวิชาการ การจัดทำเอกสารเผยแพร่มากกว่า 20 ฉบับ ให้การสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อการศึกษาด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมากกว่า 300 โครงการ การจัดนิทรรศการวิชาการในงานประชุมและวิชาการเป็นประจำทุกปี และในปี พ.ศ. 2567 วช. ได้จัดทำเว็บไซต์ อพ.สธ.-วช. (rspg.nrct.go.th) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 69 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การให้ความรู้ด้านวิชาการ สร้างฐานข้อมูลพืชอนุรักษ์ สนับสนุนโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของ อพ.สธ.-วช. ด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-วช.) อาทิ โครงการการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงและอนุรักษ์หงส์เหินเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโครงการการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและยกระดับการผลิตมันป่า เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรม จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้น ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ วช. ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งต้นไม้ที่นำมาปลูกในครั้งนี้คือ ต้นมหาพรหมสิรินธรที่ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นหนึ่งในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-วช.) โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดประโยชน์กับมหาชนชาวไทย