วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2024 | 12 : 58 pm
วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2024 | 12:58 pm

วช. ลงพื้นที่เบตง ดัน ผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือไทย สร้างรายได้ให้ชุมชนปิยะมิตร 1 ยกระดับการท่องเที่ยวแบบครบวงจร

วันที่ 26 สิงหาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ประกอบด้วย นายประลอง ดำรงไทย
นายสมบูรณ์ วงค์กาด รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ นายธานินทร์ ผะเอม รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และ ดร.สุพจน์ อาวาส พร้อมด้วย นางสาวสุภาพรรณ โทขัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วช. นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการดำเนินงาน โครงการวิจัย เรื่อง “การยกระดับและแปรรูปเห็ดหลินจือเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพส่งเสริมการท่องเที่ยวประสบการณ์สู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ของบ้านปิยะมิตร 1 และชุมชนเครือข่าย” ภายใต้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่การใช้ประโยชน์ (RU) ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โดย รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะทีมนักวิจัย ตัวแทนผู้นำชุมชน นายสิวพงษ์ พิทักษ์ทักษิณ นายสิทธรวิชกฤติฐร แซ่หลิว และผู้ดูแลสมุนไพรในพื้นถิ่น นางลี่เอ้อ แซ่หูว ให้การต้อนรับ ณ หมู่บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

นายประลอง ดำรงไทย ผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช.
กล่าวว่า อยากให้มีการเชื่อมโยงในภาคของชุมชนให้มากขึ้น ให้ชุมชนมีส่วนร่วมที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองให้มีความเข้มแข็งโดยนำจุดเด่นของชุมชนไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเห็ดหลินจือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
จากเห็ดหลินจือ ชูให้เป็นจุดเด่นของชุมชนที่จะนำไปสู่การดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยว โดยอาศัยการมีส่วนร่วมในชุมชน รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบของการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน

รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากการดำเนินการวิจัยและพัฒนา ภายใต้โครงการวิจัยการยกระดับและแปรรูปเห็ดหลินจือเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพส่งเสริมการท่องเที่ยวประสบการณ์สู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ของบ้านปิยะมิตร 1 และชุมชนเครือข่าย นั้น ผลสำเร็จจากงานวิจัยจากโครงการก่อนหน้านี้ ในรูปแบบของการแปรรูปเห็ดหลินจือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดแคปซูลมุ่งเน้นให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน ภายใต้ชื่อแบรนด์ “PIYAMIT TUNNEL คีรี 1987” ซึ่งผลการสกัดสารสกัดเห็ดหลินจือ พบว่า การสกัดสารสกัดเห็ดหลินจือด้วยวิธี Dual extraction ให้ปริมาณสารสกัดมากที่สุด และการปนเปื้อนของโลหะหนัก และเชื้อจุลินทรีย์ในสารสกัดเห็ดหลินจือ ด้วยวิธี Dual extraction พบว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น จึงสามารถนำสารสกัดเห็ดหลินจือใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อีกทั้งได้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยเดิมสู่การสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ภายใต้ชื่อ หลินจือ ไวท์เทนนิ่ง เฟเชียล ครีม สบู่เห็ดหลินจือ ครีมขัดหน้า และครีมขัดตัว ที่อยู่ในขั้นตอนในการขอรับทะเบียน อย. ซึ่งผลิตภัณฑ์สามารถเสริมหนุนพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพื้นที่มากขึ้น โดยอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอำเภอหนึ่งในโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประกอบกับพื้นที่อำเภอเบตง เป็นอำเภอที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ภาษา และชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เป็นเมืองที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย โดยจุดเด่นดังกล่าวอันนำไปสู่การผลักดันและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญซึ่งบ้านปิยะมิตร 1 เป็นหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งธรรมชาติและมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ปัจจุบันหมู่บ้านปิยะมิตร 1 ได้เปิดเป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวโดยมีการจัดตั้งกลุ่มการท่องเที่ยวขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยวมีร้านขายของที่ระลึก มีร้านอาหารไว้บริการ มีห้องพักรองรับนักท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านปิยะมิตร 1 คือ อุโมงค์ปิยะมิตร และที่สำคัญยังมีสมุนไพรเห็ดหลินจือพื้นถิ่น โดยเฉพาะสมุนไพรเห็ดหลินจือพื้นถิ่นเห็ดหลินจือดำที่รู้จักกันดีตามหลักการแพทย์แผนจีนว่ามีสรรพคุณดีที่สุดในบรรดาเห็ดหลินจือ และเกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเครือข่ายโดยรอบ จากผลสำเร็จจากงานวิจัยก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายสิวพงษ์ พิทักษ์ทักษิณ ตัวแทนจากผู้นำชุมชน กล่าวว่า ชุมชนของเรามีเห็ดหลินจือที่เป็นจุดเด่นแต่ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้และความเข้าใจในการที่จะพัฒนาเห็ดหลินจือที่เป็นจุดเด่นของเราให้เป็นที่รู้จัก โดยนักวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยและหนุนเสริมองค์ความรู้ให้กับชุมชนในการที่จะพัฒนาและแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลินจือในชุมชนของเราให้เป็นที่รู้จัก