วันเสาร์, 7 กันยายน 2024 | 11 : 30 pm
วันเสาร์, 7 กันยายน 2024 | 11:30 pm

กระทรวง อว.-ทปอ. จับมือ กสศ. เดินหน้านโยบายพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เชื่อมมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ส่งต่อการศึกษาพื้นฐานถึงอุดมศึกษา 20 ปีไร้รอยต่อหลุดนอกระบบ ชี้ปี 65 มีเด็กยากจน ยากจนพิเศษกว่า 2 หมื่นคนสอบติด TCAS เพิ่มขึ้นจากปี 64 ราว 1-2%

‘ดร.เอนก’ มอบนโยบายผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษารับช่วงต่อ กสศ. จัดมาตรการดูแลนิสิตนักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ หนุนหลักประกันโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนจบปริญญา ‘ผู้จัดการ กสศ.’ เผย TCAS65 มีเด็กยากจน ยากจนพิเศษเข้าเรียนมหาวิทยาลัยร้อยละ 14 เพิ่มขึ้นจากปี 64 ราว 1-2%

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในงานประชุมหารือสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ด้อยโอกาสทางสังคมเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อธิการบดีและตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผ่านระบบออนไลน์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. ได้มีการปฏิรูปการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ สำหรับกลุ่มนักเรียนยากจน ยากจนพิเศษ ที่เข้าเรียนเป็นนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในสถาบันอุดมศึกษาในปีนี้ที่มีจำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่งของ อว. จะได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ ซึ่งตนได้ให้นโยบายแก่สถาบันอุดมศึกษาที่รับนิสิตนักศึกษากลุ่มนี้เข้าเรียนว่าจะต้องมีมาตรการต่าง ๆ ในการดูแล อาทิ การสนับสนุนทุนการศึกษา สนับสนุนการทำงาน Part-time ในสถาบันอุดมศึกษา ดูแลการเรียนด้วยการจัดติวพิเศษให้สามารถเรียนเท่าทันนิสิตนักศึกษาอื่น ๆ การดูแลในการปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อช่วยให้นิสิตนักศึกษาจบการศึกษาและประสบความสำเร็จในอนาคต ตลอดจนการติดตาม Survey ข้อมูลหลังนิสิตนักศึกษาเรียนจบ ติดตามสถานะการมีงานทำ รายได้ เพื่อจะนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายและแนวทางสนับสนุนต่อไปในอนาคต

“การจัดการความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ต้องทำคู่ไปกับการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social mobility) คือ ทำให้คนลำบากยากไร้ไม่เพียงแต่เขยิบมาเท่ากับคนปกติแต่ต้องทำให้ดีกว่าคนปกติ ไม่มองว่าพวกเขาเป็นคนป่วยหรือมีปัญหา แต่ต้องมองว่าเป็นช้างเผือกในป่า เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าของประเทศ เสมือนเพชรพลอยที่ยังไม่ได้รับการเจียรนัย ถ้าเราดูแลให้ดี เอามาฝึกปรือ ปลุกเร้าให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ก็จะกลายเป็นคนเก่ง คนดี ที่จะมาเติมพลังให้บ้านเมือง อย่าให้กลัวความจน เพราะความจนจะเป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ คนเก่งมาจากความยากไร้มีมากมาย ที่สำคัญต้องให้พวกเขาตระหนักว่าสังคมให้โอกาสและดูแลเอาใจใส่ เมื่อประสบความสำเร็จจะต้องกลับมาตอบแทนสังคมเพื่อคนรุ่นต่อไป” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หลังจาก กสศ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับอุดมศึกษากับกระทรวง อว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 นั้น ล่าสุดได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เคยได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อปี 2561 ซึ่งปัจจุบันได้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว พบว่ามีนักเรียนสอบติดและได้ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง ซึ่งถือว่านักเรียนกลุ่มนี้เป็นเด็กช้างเผือก (Resilient Students) ที่แม้จะมาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนของประเทศ แต่ก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรรคจนสามารถสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสอบติดมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
“ปี 2561 เป็นปีแรกที่ กสศ. เริ่มดำเนินงาน และได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย ในการสำรวจและคัดกรองสถานะความยากจนของนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ อนุบาลถึงระดับ ม.ต้น โดยมีคุณครูมากกว่า 400,000 คนทั่วประเทศช่วยลงพื้นที่สำรวจและบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษให้กับ กสศ. สพฐ. ซึ่งในปีการศึกษา 2561 มีนักเรียนชั้น ม.3 ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานฯ จาก สพฐ. รวม 148,021 คน โดยปีการศึกษา 2564 พบว่านักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 ในโรงเรียน สพฐ. 62,042 คน โดย กสศ. ได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบ TCAS ปีการศึกษา 2565 ร่วมกับ ทปอ. พบว่ามีนักเรียนยืนยันสิทธิ์ศึกษาต่อ 20,018 คน ประกอบด้วยนักเรียนยากจนราวร้อยละ 14 และยากจนพิเศษร้อยละ 12 ของจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่อยู่ในระบบการศึกษาชั้น ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2561 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก TCAS ปี 64 อยู่ราวร้อยละ 1-2” ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่า เมื่อจำแนกตามประเภทของสถาบันอุดมศึกษา พบว่า จากนักเรียน 20,018 คน เข้าศึกษาต่อกลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมากที่สุด 7,599 คน คิดเป็นร้อยละ 38 รองลงมาคือกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5,891 คน คิดเป็นร้อยละ 29 กลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐ 5,132 คน คิดเป็นร้อยละ 26 กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล 1,235 คน คิดเป็นร้อยละ 6 กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ 161 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ในจำนวนทั้งหมดนี้พบว่ามีนักเรียน 6 คน สามารถสอบเข้ากลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของ กสศ. 25 คน

“จากข้อมูลเชิงลึกจะเห็นว่าประเทศไทยมีเด็กช้างเผือกหรือเด็กจากครัวเรือนยากจนที่สุดได้เรียนมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 14 จาก 100 คน อาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่ถ้าเทียบกับ TCAS ปีการศึกษา 2564 ที่พบว่านักเรียนกลุ่มนี้ได้เรียนมหาวิทยาลัยร้อยละ 12 จาก 100 คน จะเห็นความก้าวหน้าของระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ กสศ. ร่วมกับกระทรวง อว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขาให้มีโอกาสได้รับการศึกษาต่อเนื่องในระดับอุดมศึกษา วันนี้ กสศ. ร่วมกับกระทรวง อว. ส่งต่อข้อมูลของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่นักศึกษาสังกัดอยู่ เพื่อให้สถาบันการศึกษาได้พิจารณาทุนการศึกษาหรือให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อร่วมกันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาทั้งระบบ ทั้งหมดเป็นมากกว่าการให้ทุนการศึกษาแต่ยังเป็นการส่งต่อข้อมูลทุกมิติอย่างเต็มที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนที่แคลนทุนทรัพย์ด้อยโอกาส และเป็นภารกิจสำคัญของ กสศ. ที่จะดูแลเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย ผ่านการเพิ่มสัดส่วนของกำลังแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง และฐานภาษีของประเทศที่จะขยายตัวมากขึ้นในระยะยาวอย่างยั่งยืน” ดร.ไกรยส กล่าว

ทั้งนี้ มีผลวิจัยชี้ว่า เด็กช้างเผือก (Resilient Students) จากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศ แม้มีพรสวรรค์มากเพียงใดแต่หากขาดโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคและระบบนิเวศส่งเสริมการพัฒนาพรสวรรค์ในระยะยาวก็จะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ ประเทศจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ The Lost Einsteins สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากยูเนสโกปี 2558 ระบุว่าเยาวชนจากครอบครัวที่ฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 6 เท่า ดังนั้นการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในระดับสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะส่งผลถึงรายได้จากการประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษาและส่งผลถึงโอกาสหลุดออกจากกับดักความยากจนข้ามชั่วรุ่นของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งมีระดับการศึกษาสูงสุดเฉลี่ยเพียงชั้นประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 (2566-2570)