วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2024 | 8 : 17 am
วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2024 | 8:17 am

วช. หนุนเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ตั้งศูนย์วิจัยชุมชน นำววน.เสริมอัตลักษณ์ “ชุมชนท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย” จ. ชัยภูมิ

วช. หนุนเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งเสริมชุมชนบ้านเสี้ยวน้อย จ.ชัยภูมิ ชูอัตลักษณ์เส้นไหม และภูมิปัญญาการผลิตเส้นไหม พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชนท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย”
นำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ส่งเสริมอาชีพ และรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดศูนย์วิจัยชุมชน “ชุมชนท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย”จังหวัดชัยภูมิ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ พร้อมมอบป้ายศูนย์วิจัยชุมชน

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชน” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในชุมชนได้เข้าถึงงานวิจัย นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ รวมถึงเชื่อมโยงในการพัฒนาการประกอบอาชีพ และพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชน จำนวน 56 ศูนย์ ซึ่งในครั้งนี้ เป็นการเปิดตัวศูนย์วิจัยชุมชนแห่งที่ 10 ซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์วิจัยชุมชน “ท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย” จังหวัดชัยภูมิ นี้ มีอัตลักษณ์เส้นไหมและภูมิปัญญาการผลิตเส้นไหมของชุมชนบ้านเสี้ยวน้อยที่มีชื่อเสียงในด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบดั้งเดิม และการผลิตเส้นไหมตามเกณฑ์ชี้วัดทางภูมิศาสตร์ (GI) ในสากลระดับแนวหน้าของจังหวัดชัยภูมิ โดยอาศัยภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ มีการทำผ้าหมักโคลน โดยนำผ้าไหมที่ทอทั้งผืนไปหมักโคลน เพื่อให้ผ้ามีความนุ่ม ลื่น พลิ้วไหว ไม่แข็งกระด้าง อีกทั้งมีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์

เป็นหมู่บ้านไหมไทยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และได้รับรางวัลเกียรติยศระดับภูมิภาคอีสานและระดับประเทศ เป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร มีผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ภูมิปัญญา วัฒนธรรม องค์ความรู้ที่จะให้คนทั่วไปได้มาเรียนรู้ในแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้กับภาคเกษตรในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน มีการทำงาน ในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานภาคพื้นที่และสถาบันการศึกษาที่ร่วมดำเนินการ อาทิ ส่วนราชการจังหวัดชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้ จะได้นำไปสู่ การใช้ประโยชน์ร่วมกับชุมชนในการพัฒนาและส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิ มีความยินดี ที่ วช. และคณะกรรมการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ให้เกียรติมาเปิดศูนย์วิจัยชุมชน “ท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย” จังหวัดชัยภูมิ ในวันนี้ โดยในปัจจุบันบ้านเสี้ยวน้อยมีชื่อเสียงในด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบดั้งเดิม และการผลิตเส้นไหมโดยอาศัยภูมิปัญญาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ มีอัตลักษณ์ในการทำผ้าหมักโคลน มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมุข ศรีชัยวงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ได้ลงพื้นที่บ้านเสี้ยวน้อย จ.ชัยภูมิ นำโครงการวิจัยการพัฒนากลยุทธ์การตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ตามอัตลักษณ์วัฒนธรรมอีสานใต้ในพื้นที่บ้านเสี้ยวน้อย โครงการวิจัยพัฒนาการผลิตผ้าฝ้ายย้อมโคลนของกลุ่มผู้ผลิตผ้าฝ้ายในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และโครงการวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมบ้านเสี้ยวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ จากการนำโครงการวิจัยลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหม การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า เกิดการส่งเสริมการตลาด การท่องเที่ยวในพื้นที่ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชน เกิดเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถดูแลจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ดีมีสุข

ศูนย์วิจัยชุมชน “ท่องเที่ยวไหมโบราณ บ้านเสี้ยวน้อย” เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จจากที่เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ประสานโจทย์วิจัยที่ชุมชนต้องการได้รับการแก้ไขแล้วนำมาดำเนินการวิจัย เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พร้อมใช้มาแก้ไขปัญหา หรือตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ตนเอง โดยตั้งเป้าให้ศูนย์วิจัยชุมชนทำหน้าที่ประสานงานกับคณะนักวิจัย ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับพี่เลี้ยงที่นำองค์ความรู้มาช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ประสบผลสำเร็จ