วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2024 | 12 : 31 am
วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2024 | 12:31 am

องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานการพัฒนาหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

วันนี้ (28 เมษายน 2565) เวลา 14.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒฝนหลวง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานแผนการพัฒนาหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี ณ ค่ายสุรสีห์ ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทำงานร่วมกับกองทัพอากาศ และกองทัพบก โดยน้อมนำแนวพระราชดำริตำราฝนหลวงพระราชทานมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติให้กับประชาชน จำนวน 4 ภารกิจ ได้แก่
​1) การป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง
​2) การเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนเก็บกักน้ำ
​3) การยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ
​4) การบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า

หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี อยู่ภายใต้กำกับดูแลของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ กองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งมีสถานที่ตั้งหน่วยอยู่ภายในบริเวณสนามบินกาญจนบุรี (ภายในค่ายสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9) ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อปฏิบัติภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี และนครปฐม และเติมน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ

โดยกรมฝนหลวงฯ จะมีการตั้งหน่วยในพื้นที่ดังกล่าวระหว่างเดือนมีนาคม – กันยายน เป็นประจำทุกปี ซึ่งการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ อากาศยาน อาคารที่ทำการชั่วคราว โรงเก็บสารฝนหลวง ยานพาหนะต่าง ๆ ที่จำเป็น และเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนมาปฏิบัติงาน ประมาณ 30 – 40 นาย ประกอบด้วย นักวิชาการ นักบิน ช่างเครื่องบิน ช่างสื่อสาร เจ้าหน้าที่บด-ผสม โปรยสารฝนหลวง เจ้าหน้าที่ตรวจอากาศ และพนักงานขับรถยนต์ ซึ่งในขณะนี้ อาคารที่ทำการชั่วคราวของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี ที่ใช้งานในปัจจุบัน เป็นตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 3 x 6 เมตร จำนวน 2 หลังที่หลังคาเชื่อมต่อกัน โดยได้รับบริจาคจากกลุ่มโรงงานน้ำตาลเขต 7 เมื่อปี พ.ศ. 2553

ในปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม ประกอบกับพื้นดินด้านหลังเริ่มมีการสไลด์ตัว และพื้นที่เก็บสารฝนหลวงเป็นการเก็บในเต็นท์ชั่วคราว โดยการวางสารฝนหลวงบนแท่นพลาสติกและคลุมด้วยผ้าใบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสารฝนหลวง จึงจำเป็นต้องมีการหมุนเวียนสารฝนหลวงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเพื่อให้สารฝนหลวงที่ใช้มีคุณภาพดีอยู่ตลอดเวลา

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงมีแผนการพัฒนาหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี โดยได้ขอความอนุเคราะห์ใช้อาคารที่หน่วยงานกองร้อยบิน กองพลทหารราบที่ 9 (ร้อย.บ.พล.ร.9) ที่ไม่มีแผนการใช้ประโยชน์ มาเป็นสถานที่ปฏิบัติงานชั่วคราว และจะดำเนินการปรับปรุงให้เป็นโรงเก็บสารฝนหลวง เครื่องบดลดขนาดสารฝนหลวง และอาคารสำนักงานชั่วคราว ประกอบด้วย ห้องทำงานของนักวิทยาศาสตร์ นักบิน ช่างเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ตรวจอากาศ และห้องประชุมวางแผนปฏิบัติงานประจำวัน อีกทั้ง จะขอความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงาน และโรงเก็บสารฝนหลวงบนพื้นที่บริเวณเดิมที่ใช้งานปัจจุบัน พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยจะขอตั้งงบประมาณในปี 2567 ต่อไป

เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากปัญหาภัยแล้ง ตามศาสตร์ฝนหลวงพระราชทาน อันจะเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่สืบไป