วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2024 | 12 : 48 am
วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2024 | 12:48 am

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผลิตคนต้นแบบผู้รู้เท่าทัน-เฝ้าระวังสื่อ สร้างเกราะป้องกันภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้เข้าร่วมโครงการอบรมเพื่อสร้างต้นแบบเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อ Media Literacy Expert (MeLEx) มุ่งหวังสร้างบุคคลต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน สร้างเกราะป้องกันวิกฤตจากภัยหลอกลวงออนไลน์ที่กำลังรุกหนัก โดยโครงการดังกล่าว มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการอบรมทั้งหมด 59 ท่าน จากหลากหลายอายุ อาชีพ ทั้งนักศึกษา วัยทำงาน และวัยเกษียณ จัดอบรมทุกวันเสาร์ต่อเนื่องจำนวน 4 ครั้ง ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567 ถึงวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 โดยทีมวิทยากร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กร ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพฯ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ดำเนินตามยุทธศาสตร์ 5 ปีด้วยการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อและเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัย และไม่สร้างสรรค์ โดยมุ่งเป้าประสงค์สำคัญ คือ เด็ก เยาวชน และประชาชนทุกกลุ่มให้มีทักษะการเรียนรู้เท่าทันสื่อ และความฉลาดทางดิจิทัล หรือ Digital Intelligence รวมถึงมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัย โดยโครงการ MeLEx เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยพัฒนาศักยภาพและขยายเครือข่ายบุคลากรในแขนงต่างๆ ให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้รู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ รวมถึงการใช้สื่อเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

ในช่วงการอบรมโค้งสุดท้าย ได้รับเกียรติจาก พ.ต.ต.พกฤต กฤติยาพงษ์ (สารวัตรเติ๊ก) และ ร.ต.อ.พิชพงศ์ โสมกุล(ผู้กองไอซ์) จากศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปอส.ตร) มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลการหลอกลวงออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น การหลอกขายของออนไลน์, การชวนทำงานเสริมออนไลน์, การหลอกให้กู้เงิน, แก๊งคอลเซ็นเตอร์และโรแมนซ์สแกม นอกจากนี้ยังมีกลโกงแบบอื่นอีกมากมายที่พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยี โดยทั้ง 2 วิทยากรได้ให้ข้อมูลว่า มิติของการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ของทางศปอส.ตร จะแบ่งเป็น 2 มิติ คือการป้องกันและการปราบปราม สำหรับการป้องกัน คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ คือการเตือนภัยให้พี่น้องประชาชน เรื่องลักษณะของกลโกงต่างๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และอยากให้ถ่ายทอดบอกเตือนกันเริ่มจากเพื่อน ญาติพี่น้อง ส่งต่อข้อมูลความรู้ให้กระจายออกไป ให้ทุกคนมีวัคซีนไซเบอร์อยู่ในตัวเอง ส่วนในเรื่องของการปราบปราม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่ตามจับกุม ทั้งการเปิดบัญชีม้า การทลายแก๊งอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งแก๊งพวกนี้จะไม่เหมือนการลักขโมยทรัพย์ทั่วไป แต่จะมีการทำงานในรูปแบบองค์กรเครือข่ายที่ต้องสาวไปให้ถึง

คุณพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ได้กล่าวสรุปถึงผลรวมของโครงการนี้ว่า กองทุนฯ ของเรามีจุดประสงค์ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ เลยสร้างโปรเจ็ค MeLEx นี้ขึ้น เพื่อจะเป็นเครือข่ายให้เราได้ เพื่อเอาความรู้ไปถ่ายทอด ซึ่งมีการอบรมด้วยกัน 4 วัน 4 หลักสูตร ดังนี้
1. พื้นฐานสื่อ (สถานการณ์สื่อปัจจุบัน)
2. ทักษะการวิเคราะห์สื่อเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ
3. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เรื่อง PDPA กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิต่างๆ
4. เทคนิคการสอนและการบรรยาย เพื่อเอาเทคนิคนี้ไปสอนต่อไปได้

“ผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ มีหลากหลายสาขาอาชีพทั่วประเทศ ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และผู้ผลิตสื่อ ซึ่งเมื่อผ่านการอบรมแล้ว เราจะมาสกรีนอีกรอบ เพื่อค้นหาผู้ที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ให้กับกองทุนฯ ต่อไปหากมีบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจให้กองทุนฯไปถ่ายทอดความรู้ เราก็จะสามารถส่งผู้เชี่ยวชาญจากทะเบียนของเราไปได้นั่นเอง” ผอ.พัชรพรกล่าว

ด้านความคิดเห็นส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมอบรมอย่าง คุณยศสิริ บุญชู (เอก) โคชการตลาดและวิทยากรด้านความคิดสร้างสรรค์ กล่าวว่า การร่วมเข้าอบรมโครงการนี้ทำให้มีความตื่นเต้นในการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีกครั้ง หลังจากที่เคยขาดความมั่นใจในการทำสื่อและปิดตัวเองจากโซเชียลไปนาน เพราะความรู้สึกว่าเราตามอัพเดทไม่ทัน แต่ในการอบรมนี้ได้มาพบกับผู้คนหลายวัยหลายอาชีพ ที่ล้วนแล้วแต่มีความกระตือรือร้น ที่จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ ทำให้ตนเองก็ตั้งเป้าว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่กับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือเด็กวัย 5-12 ปี ซึ่งพ่อแม่ก็จะเป็นผู้ดูแลเด็กวัยนี้ ทำให้เข้ากับช่องที่สร้างไว้ชื่อว่า “โคชพ่อ โค้ชแม่” และความรู้ครั้งนี้ก็จะได้นำไปต่อยอดในการสร้างสื่อดีๆ ต่อไป
คุณปภังกร สัตย์ซื่อ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์อุตสาหการ ปี 3 ม. ธรรมศาสตร์รังสิต ผู้เข้าร่วมอบรมอีกท่านหนึ่งได้เล่าว่า การมาอบรมในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการรู้เท่าทันสื่ออย่างเดียว จะได้ความรู้เรื่องกฎหมายด้วย ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจมีความกังวลเกี่ยวกับการสื่อสารหรือสื่อที่เราทำออกมาแล้วมีผลกระทบทางกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้รู้ว่ามีขอบเขตในการสื่อสารได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้เราสื่อสารได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งตนมีเพจส่วนตัวอยู่ ชื่อเพจ “โลกกิจกรรม” เป็นเพจแนะนำกิจกรรมหลายๆ ด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตรงนี้จะเอาไปบูรณาการเกี่ยวกับการทำสื่อให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นและขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น

ในส่วนของ คุณพีระ พิลาฤทธิ์ จากสำนักหอสมุดเบญญาลัย มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าสิ่งที่ได้รับการอบรมก็จะเอาไปถ่ายทอดให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตาที่มูลนิธิของเราดูแลอยู่ 10 โรงเรียนทั่วประเทศ ให้เขาได้รู้เท่าทันสื่อและใช้สื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จริงๆ แล้วสื่อที่คนทั่วไปใช้ ผู้พิการทางสายตาก็สามารถใช้ได้ทั้งหมดเช่นกัน เพียงแต่จะใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้ามาช่วย ซึ่งเขาสามารถที่จะเข้าถึงได้ทุกแพล็ตฟอร์ม ซึ่งเมื่อรับสารได้มากเท่ากัน สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาก็คือการไม่รู้เท่าทันสื่อ ภัยที่มาจากสื่อเหล่านี้ ซึ่งความท้าทายของเราคือ การนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนออกแบบสื่อเพื่อถ่ายทอดสำหรับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา

ดร.ธนกร ได้กล่าวสรุปในช่วงท้ายก่อนจบหลักสูตรการอบรมว่า เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจมากที่จะสร้างแกนเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในการรู้เท่าทันสื่อ ตลอดเวลาที่ผู้เข้าร่วมอบรมอยู่กับเรา เราเห็นความทุ่มเท ความตั้งใจ และความพร้อมในการที่จะสร้างเครือข่าย ซึ่งทุกคนเป็นแกนนำอยู่แล้ว และเราก็ได้เตรียมความรู้ที่จะให้เขานำไปถ่ายทอดสู่ชุมชนของเขา ซึ่งถ้าหากเราสามารถสร้างเครือข่ายแกนนำได้ในทุกพื้นที่กระจายออกไป ก็จะครอบคลุมทั่วประเทศ และสามารถต่อยอดโครงการต่างๆ โดยมีบุคคลเหล่านี้เป็นครูผู้สอน เป็นบุคลากรสำคัญขององค์กร

“วันนี้กองทุนพัฒนาสื่อฯ มอบประกาศนียบัตรให้กับผู้อบรมทุกท่านที่ได้ร่วมโครงการฯกับเรา พร้อมทั้งคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้เท่าทันสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป เราเชื่อว่าผู้ที่ได้เข้าอบรมในวันนี้จะเป็นต้นแบบและนำความรู้ไปที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับบุคคลอื่นๆ ให้รู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต และขอให้ติดตามกิจกรรมของกองทุนพัฒนาสื่อฯ จะมีกิจกรรมและโครงการดี ๆ เพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทยต่อไป” ดร.ธนกรกล่าวทิ้งท้าย

สามารถติดตามโครงการพัฒนาศักยภาพด้านสื่อได้ที่ www.thaimediafund.or.th
และเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์