วันเสาร์, 5 ตุลาคม 2024 | 8 : 23 pm
วันเสาร์, 5 ตุลาคม 2024 | 8:23 pm

สุดยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ การแสดงโขนประกอบแสงสี ณ วัดไชยวัฒนาราม เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี

นายพนมบุตร จันทรโชติ (กลาง) อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา (ซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต และนายสมคิด รุจีปกรณ์ (ขวา) กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา แถลงเปิดตัวการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยกับโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี ณ วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยาในวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 – สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จัดการแสดงสุดยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ผสานสองมรดกที่ขึ้นทะเบียนรับรองโดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) “โขน – มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” และ “วัดไชยวัฒนาราม – โบราณสถานที่ตั้งอยู่ในเขตมรดกโลก” กับการแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี ณ วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 เพื่อสืบสานและเชิดชูวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่า สอดคล้องกับปณิธานในการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานที่มุ่งหมายในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทย รวมถึงในระดับนานาชาติ

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า “เพื่อตอบสนองนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาล และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการ “ราตรีนี้ที่วัดไชยวัฒนาราม” ตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับที่ดีจึงได้สานต่อโครงการไปถึงสิ้นเดือนเมษายน 2567 นี้ ภายใต้ชื่องาน “ยามค่ำอยุธยา ๒๕๖๗ – Ayutthaya Sundown 2024” เพื่อให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสความงดงามของโบราณสถานยามราตรี และร่วมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยมีจุดเด่นคือการจัดแสดงโขนประกอบแสงสี โดยสำนักการสังคีต ร่วมกับมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ที่ถือเป็นการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เราขอขอบคุณมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ที่ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย มีความตั้งใจสืบสานและอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่าไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป ที่นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรมของชาติให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งคนในประเทศ และนานาประเทศ จึงขอเชิญชวนให้มาร่วมชมการแสดงครั้งสำคัญนี้ด้วยกันครับ”

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กล่าวว่า “สำนักการสังคีต ให้ความสำคัญในการดำเนินงานโครงการจัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีสัญจรไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เสมือนเรา “ยกโรงละครแห่งชาติออกไปหาประชาชน” โดยสร้างสรรค์และปรับองค์ประกอบการแสดง เล่าเรื่องให้กระชับและชวนติดตาม รวมทั้งผสานเทคโนโลยีอันทันสมัยมาเพิ่มอรรถรสในการชม ที่ไม่เพียงให้ถูกใจผู้ที่ติดตามการแสดงของเราเป็นประจำอยู่แล้ว แต่เรายังหวังให้คนรุ่นใหม่ รวมทั้งประชาชนนอกกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสชมการแสดงที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น การแสดงชุด “สัจจะพาลี” ที่จัดขึ้นที่วัดไชยวัฒนารามครั้งนี้ ถือเป็นอีกตอนที่มีความสำคัญของเรื่องรามเกียรติ์ ไม่เพียงมีเนื้อหาที่สนุกสนาน ยังเป็นตอนที่รวบรวมตัวละครเอกของเรื่องเอาไว้มากมาย รับรองได้ว่าผู้ชมจะได้รับชมอย่างมีความสุขแน่นอน”

นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต

นายสมคิด รุจีปกรณ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ก่อตั้งมากว่า 20 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีอย่างยั่งยืนแก่คนในสังคมไทย หนึ่งในแนวทางหลักของการดำเนินงาน เราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ที่ดีงามของชาติไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เราอยากให้พวกเขาได้สัมผัส เรียนรู้ และร่วมสืบสานสิ่งอันมีค่าเหล่านี้ ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ร่วมมือกับกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพทักษะด้านช่างเพื่อบูรณะจิตรกรรม ประติมากรรมไทย โครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่จริงนอกโรงเรียนให้กับคุณครู เพื่อใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตร ผ่านเส้นทางทัศนศึกษาโบราณสถาน รวมถึงโครงการบูรณะโบราณสถานของไทย และครั้งนี้เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมจัดงานแสดงโขนซึ่งถือเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่รวมศิลปะ หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน เราหวังว่านอกจากจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่มีโอกาสได้มาชมแล้ว ยังถือเป็นการช่วยสืบสานวัฒนธรรมไทยที่เป็นมรดกอันล้ำค่าให้ดำรงสืบไปอย่างงดงาม”

นายสมคิด รุจีปกรณ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา

การจัดแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี เป็นการแสดงสุดตระการตาครั้งประวัติศาสตร์ ที่ผสมผสานสองสุดยอดแห่งศิลปะไทยซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่างการแสดงโขน ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากองค์การยูเนสโก โดยมีฉากหลังเป็น วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในโบราณสถานแห่งสำคัญของไทย ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกด้วยเช่นกัน ครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะได้สัมผัสกับการแสดงสุดยิ่งใหญ่ พร้อมเทคนิกแสง สี เสียงอันทันสมัย รวมถึงการออกแบบเวทีการแสดงที่วิจิตรบรรจงและกลมกลืนกับสถานที่ในทุกมิติ นอกจากนี้ ยังมีการบรรเลงวงออร์เคสตรา โดยวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จัดแสดงก่อนการแสดงโขนให้ผู้เข้าชมได้เพลิดเพลินและดื่มด่ำกับบรรยากาศยามอาทิตย์อัสดง ในสถานที่แห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้อย่างเต็มอิ่มอีกด้วย

ตัวอย่างการแสดงการแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี

การแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี จัดแสดงในวันที่ 9 – 10 มีนาคม 2567 เวลา 17:30 น. ณ วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา สามารถเข้าชมได้ฟรี โดยผู้ชมเพียงชำระค่าเข้าโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามเพียง 10 บาทต่อท่าน ซึ่งรายได้จากส่วนนี้ทางโบราณสถานจะนำไปบำรุงสถานที่ต่อไป

–จบ–

เกี่ยวกับมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา
มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2546 เป็นองค์กรสาธารณะกุศล ลำดับที่ 724 ตามประกาศกระทรวงการคลัง ดำเนินงานในฐานะองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะ และปราศจากนัยยะทางการเมือง โดยมีคุณสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เป็นผู้ก่อตั้ง และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดยมีเป้าหมายอยากจะตอบแทนสังคมให้กับคนไทย โดยแบ่งแนวทางการดำเนินงานออกเป็นหกด้าน คือ ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เกษตรวิถีธรรมชาติ สาธารณสุข การศึกษา วัฒนธรรม และบริจาค

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ ชุมชนและหน่วยงานที่มีแนวคิดการทำงานเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ถ่ายทอด องค์ความรู้ ร่วมวิจัยพัฒนาไปจนถึงสนับสนุนให้เกิดการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้โครงการที่ขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจริง สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคมไทย และเกิดเป็นโครงการต้นแบบ ที่พร้อมแบ่งปันบทเรียนเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน